Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา การสนับสนุนทางสังคม ความทุกข์ทรมานจากอาการ ความรอบรู้ทางสุขภาพ และความกลัวการกลับเป็นมะเร็งซ้ำ กับความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม โดยใช้กรอบแนวคิดความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของ Mishel & Braden (1988) เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐระดับตติยภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบ คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม แบบสอบถามความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยฉบับชุมชนของมิเชล แบบประเมินความกลัวการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง (ฉบับย่อ) แบบประเมินความรอบรู้ทางสุขภาพ แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินความทุกข์ทรมานจากอาการ ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาและหาความเที่ยงจากแบบประเมินได้เท่ากับ .88, .90, .94, .91 และ .86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมมีความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X=69.04, S.D.=11.78)
2. ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์ทางลบกับความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= -.400)
3. ความทุกข์ทรมานจากอาการ และความกลัวการกลับเป็นมะเร็งซ้ำมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความรู้สึกไม่แน่นอนในความเจ็บป่วยของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .324 และ .380 ตามลำดับ)