Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ในผู้สูงอายุที่เป็นวัณโรคปอดระหว่างกลุ่มที่ได้รับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่กับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่เป็นวัณโรคปอดที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จำนวน 60 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 30 คน ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการจับคู่ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกันในเรื่องเพศ อายุ และระดับการติดนิโคติน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ในขณะที่กลุ่มทดลองได้รับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วย การให้คำแนะนำการเลิกบุหรี่แบบกระชับเกี่ยวกับวิธีการเลิกบุหรี่ ติดตามอาการถอนนิโคติน และการส่งต่อกลุ่มตัวอย่างให้รับการบำบัดจากสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการสูบบุหรี่ แบบสอบถามการติดนิโคติน แบบประเมินพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า
1. ภายหลังการได้รับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการเลิกบุหรี่สูงกว่าก่อนได้รับคำปรึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05)
2. ภายหลังการได้รับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่ คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ของกลุ่มทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < .05)