Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงบรรยายเพื่อศึกษาปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จำนวน 195 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน จากผู้ป่วยที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอกระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลศิริราช เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 7 ส่วน คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคหัวใจขาดเลือด 3) แบบสอบถามการรับรู้การเจ็บป่วย 4) แบบสอบถามแรงจูงใจ 5) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม 6) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตน และ 7) แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.94, 1.0, 1.0, 0.97, 1.0 และ 0.95 ตามลำดับ และตรวจสอบความเที่ยงของเครื่องมือเท่ากับ .76, .80, .73, .91, .96 และ .87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการรับประทานอาหารเฉพาะโรค ความรู้ แรงจูงใจ การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนอยู่ในระดับสูง (Mean = 100.98 SD = 12.39, Mean = 16.48 SD = 2.16, Mean = 76.03 SD = 8.63, Mean = 67.43 SD = 9.09 และ Mean = 25.73 SD = 3.79 ตามลำดับ) และมีคะแนนการรับรู้การเจ็บป่วยระดับปานกลาง (Mean = 49.81 SD = 9.54)
2. แรงจูงใจ และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนมีความสัมพันธ์ทางบวกอยู่ในระดับปานกลางกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .330 และ .324 ตามลำดับ) และการรับรู้การเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกอยู่ในระดับต่ำกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .178) ส่วนความรู้ และการสนับสนุนทางสังคม ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน