Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการกับอาการร่วมกับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าต่ออาการท้องอืดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง ตามแนวคิดการจัดการกับอาการของ Dodd (2001) และแนวคิดการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง เข้ารับการรักษาตัวที่หอผู้ป่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 22 คน โดยการจับคู่ อายุ จำนวนยาแก้ปวดที่ได้รับระหว่างการผ่าตัด และระยะเวลาในการผ่าตัด กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการร่วมกับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการจัดการกับอาการร่วมกับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ1) การประเมินประสบการณ์การมีอาการท้องอืดหลังการผ่าตัด 2) กลวิธีการจัดการกับอาการท้องอืดหลังผ่าตัด และ 3) การประเมินผลการจัดการอาการท้องอืดหลังการผ่าตัด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบประเมินอาการท้องอืด ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ได้เท่ากับ 0.84 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการทดสอบความแปรปรวนแบบเกี่ยวข้อง (Repeated – measures ANOVA)
ผลการวิจัยสรุปดังนี้
อาการท้องอืดหลังการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องของกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการกับอาการร่วมกับการนวดกดจุดสะท้อนฝ่าเท้าน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติในช่วงเวลาหลังผ่าตัดวันที่ 1 4 ชั่วโมง, 8 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดวันที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05