Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรยายประสบการณ์ชีวิตของพยาบาลวิชาชีพที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูล คือ พยาบาลวิชาชีพที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการปฏิบัติงาน โดยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน 15 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การบันทึกเทป และการบันทึกภาคสนาม นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เนื้อหาตามวิธีการของ Colaizzi ผลการศึกษาประสบการณ์ชีวิตของพยาบาลวิชาชีพที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบด้วยประเด็นหลัก และประเด็นย่อยดังต่อไปนี้ 1. สภาพการทำงานที่มีภาวะเสี่ยง ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1.1) มีโอกาสสัมผัสจากเชื้อโรค ไม่ได้มีการป้องกันทุกขั้นตอน และ 1.2) ละเลยการใช้อุปกรณ์การป้องกัน 2. เริ่มมีอาการ แจ้งหน่วยงานเข้าระบบการรักษา ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 2.1) มีอาการนำก่อนมาโรงพยาบาล 2.2) เข้ารับการตรวจตามระบบเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด 2.3) เลือกสถานที่เข้ารับการรักษา และ 2.4) ได้รับการรักษาตามอาการ 3. ความรู้สึกหลากหลายในช่วงเวลากักตัวและรับการรักษา ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 3.1) กลัวและกังวลใจจะทำให้คนอื่นติดเชื้อโควิด 3.2) เครียด กลัว กังวล สุขภาพของตนในระยะยาว 3.3) เบื่อกับการอยู่ในพื้นที่จำกัดทำกิจวัตรซ้ำๆ เดิม และ 3.4) รู้สึกดีที่ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง 4. อาการที่หลงเหลืออยู่หลังการรักษา ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ 4.1) อาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่เต็มอิ่ม และ 4.2) ไอ มีน้ำมูกและเจ็บคอ 5. การทำงานของพยาบาลมีความเสี่ยงตลอดเวลา ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ 5.1) ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้มีการติดซ้ำ และ 5.2) ใส่ใจสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ผลการวิจัยนี้ ผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากผู้ป่วยสู่พยาบาลผู้ปฏิบัติงานในระยะการระบาดระลอกต่อไป