Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพที่ดูแลผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ร่วมกับการบันทึกเทป การสังเกต การจดบันทึกภาคสนาม จำนวน 15 คน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง วิเคราะห์เนื้อหาตาม van Manen (1990)
ผลการศึกษา ประสบการณ์ของพยาบาลในการดูแลผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหอผู้ป่วยวิกฤต พบมี 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
1) การดูแลผู้ที่ติดเชื้อด้วยความรู้สึกหลากหลายเพราะโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ดังนี้ 1.1) เหมือนอยู่ในสมรภูมิรบ 1.2) เป็นความเครียด มีความกดดัน เพราะเป็นการดูแลที่ไม่คุ้นเคย 1.3) กลัวติดเชื้อจากผู้ป่วย 1.4) รู้สึกหดหู่ใจเพราะผู้ป่วยตายทุกวัน 1.5) ตื่นเต้น วุ่นวายในการช่วยชีวิตผู้ป่วย 1.6) เหนื่อยกายหลังให้การดูแลแต่มีใจสู้ต่อ และ 1.7) ภูมิใจในตนเองที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้
2) การดูแลด้วยประสบการณ์เดิมผสานกับความรู้ใหม่ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ดังนี้ 2.1) การดูแลผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจในท่านอนคว่ำ 2.2) เฝ้าระวังอาการและภาวะการหายใจ หากเปลี่ยนไปรายงานแพทย์ทันที 2.3) ป้องกันข้อต่อเครื่องช่วยหายใจไม่ให้เลื่อนหลุด 2.4) สังเกตน้ำยาล้างไตและสารน้ำที่ให้ผ่านเครื่อง Monitor และ 2.5) ใช้ Defibrillator แทนการ CPR เมื่อผู้ป่วยใส่ ECMO
3) การดูแลเอาใจใส่ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ดังนี้ 3.1) การดูแลด้วยความเข้าใจ/ใช้สติ ให้กำลังใจและถามไถ่ความรู้สึก 3.2) เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ป่วยและสมาชิกครอบครัว และ 3.3) วาระสุดท้ายต้องดูแลให้ได้ตามมาตรฐานและตอบสนองความต้องการของครอบครัว
4) ปัญหาและอุปสรรคของการดูแลผู้ป่วย ประกอบด้วยประเด็นย่อย ดังนี้ 4.1) ข้อจำกัดด้านการสื่อสารในทีมสุขภาพ และ 4.2) ข้อจำกัดด้านการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและครอบครัว
5) บทเรียนรู้ที่ได้รับจากการดูแลผู้ป่วย ประกอบด้วยประเด็นย่อย ดังนี้ 5.1) เกิดการเรียนรู้นำสู่การปรับปรุงตน 5.2) ผลของงานเกิดจากความทุ่มเทของทีม 5.3) ความรับผิดชอบในวิชาชีพและคุณค่าของการเป็นพยาบาลวิกฤติ และ 5.4) สะท้อนคิดในมุมมองของตนเอง
ผลการวิจัยนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้บริหารทางการพยาบาลเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของพยาบาลในสถานการณ์การดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหอผู้ป่วยวิกฤต สร้างเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองให้แก่พยาบาลวิชาชีพจากการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อยู่ในภาวะวิกฤต อีกทั้งนำสู่การพัฒนาแนวทางเพิ่มคุณภาพการพยาบาลในสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพต่อไป