Abstract:
การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์การเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินยุคใหม่โรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาของ Heidegger โดยผู้ให้ข้อมูลเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และมีความยินดีเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 12 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการบันทึกเทป ร่วมกับการบันทึกภาคสนาม และนำข้อมูลที่ได้มาถอดเทปแบบคำต่อคำ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีของ Crist and Tanner ผลการศึกษา ประสบการณ์การเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินยุคใหม่โรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ภูมิหลังและการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานใน ER ประกอบด้วยประเด็นย่อยดังนี้ 1.1) หลากหลายเหตุผลที่เข้ามาทำงานใน ER 1.2) เริ่มทำงาน เกิดความไม่มั่นใจต้องใช้เวลาในการปรับตัว และ 1.3) การเตรียมความรู้ในการดูแลผู้ป่วย
2. การปฏิบัติงานของพยาบาลในหน่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ประกอบด้วยประเด็นย่อยดังนี้ 2.1) คัดกรองผู้ป่วยด้วยทักษะที่หลากหลาย 2.2) ดูแลผู้ป่วยในห้องสังเกตการ 2.3) ช่วยฟื้นคืนชีวิตโดยปฏิบัติตามเทคนิคที่ถูกต้อง 2.4) บริการรับและส่งต่อผู้ป่วย 2.5) ปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉิน 2.6) บริการงานสาธารณภัย พร้อมโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นและ 2.7) บริการความรู้แก่สังคมเพื่อประโยชน์แห่งตนและผู้อื่น
3. ปัญหาหน้างาน บริหารจัดการโดยหัวหน้าเวร ประกอบด้วยประเด็นย่อยดังนี้ 3.1) บริหารอัตรากำลังให้เหมาะสม หากมีผู้ป่วยจำนวนมาก 3.2) สื่อสารให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจหากต้องรอตรวจนาน 3.3) ป้องกันความผิดพลาดการดูแล จึงต้องมีการตรวจสอบและทวนซ้ำและ 3.4) ระงับเหตุการณ์วุ่นวาย ต้องอาศัยหลายฝ่ายร่วมกัน
4. ผลของการปฏิบัติงานใน ER ประกอบด้วยประเด็นย่อยดังนี้ 4.1) เครียดจากการบริหารจัดการในงานยุคใหม่ 4.2) ขาดสมดุลระหว่างชีวิตกับงานที่ต้องปฏิบัติ และ 4.3) ความสุขเกิดขึ้นได้จากผู้ร่วมงานที่ดีและเต็มที่กับการดูแลผู้ป่วยจนปลอดภัย
การวิจัยนี้ทำให้เข้าใจการเป็นพยาบาลหน่วยอุบัติและฉุกเฉินที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยและการบริหารจัดการ ซึ่งผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคนและพัฒนางานของหน่วยอุบัติและฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น