Abstract:
ในปัจจุบันศิลปะสื่อใหม่มีบทบาทในศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ทว่าในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะสื่อใหม่ในประเทศไทยนั้นไม่มีความแพร่หลาย คนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะสื่อใหม่นั้นเข้าถึงข้อมูลได้ยาก มีช่องว่างในการรับรู้ข้อมูลศิลปะสื่อใหม่ การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่มีการเน้นย้ำหรือกล่าวถึง งานเขียนภาษาไทยไม่มีการจัดทำเป็นตำรา และงานแปลมีจำกัดหนังสือเพียงไม่กี่เล่มเท่านั้น เมื่อกล่าวถึงธรรมชาติของการหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจศิลปะพบว่ากลุ่มคนดังกล่าวได้ใช้อินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลเป็นหลัก แต่น้อยที่จะมีความสนใจในเนื้อหาที่เป็นการเขียนที่มีรายละเอียดเยอะโดยเฉพาะข้อมูลภาษาอังกฤษ ดังนั้น จากแนวความคิดเพื่อออกแบบชุดความรู้ ลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะสื่อใหม่สำหรับคนไทยรุ่นใหม่ที่สนใจ มาสู่การวิจัยการทำความเข้าใจองค์ความรู้ศิลปะสื่อใหม่ นำมาสร้างชุดข้อมูลนำเสนอแก่กลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าถึงและพัฒนาองค์ความรู้ต่อได้ การออกแบบชุดความรู้ดังกล่าวได้ถูกนำเสนอผ่านนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์มัลติมีเดียออนไลน์บนเว็บไซต์ที่มีชื่อว่าเทเลเอสเทติกส์โดยมีการกำหนดขอบเขตของงานวิจัยของงานวิจัยเผยแพร่ออกมา 2 ฉบับคือ เทเลเอสเทติกส์ฉบับที่หนึ่งเน้นไปที่การปูพื้นความรู้เกี่ยวกับศิลปะสื่อใหม่ ส่วนเทเลเอสเทติกส์ฉบับที่สองเป็นการนำต่อยอดองค์ความรู้จากฉบับที่หนึ่งและเน้นไปที่ศิลปะแห่งเสียงเป็นแขนงที่คาบเกี่ยวกับศิลปะสื่อใหม่ให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้เนื้อหาดังกล่าว