Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาอาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ 4 ภูมิภาค ได้แก่ อาหารภาคเหนือ อาหารภาคกลาง อาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาหารภาคใต้ 2) เพื่อหาสัญลักษณ์ ตัวอักษร อารมณ์และสี ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหาร 4 ภูมิภาค 3) เพื่อหาสัญลักษณ์ ตัวอักษร อารมณ์และสี ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารไทย
ขั้นตอนและวิธีการวิจัย เก็บข้อมูลจากหนังสือ และบทความต่าง ๆ เพื่อสร้างแบบสอบถามสำหรับคนท้องถิ่น 200 ท่านและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร 3 ท่านด้วยเทคนิคเดลฟาย เพื่อให้ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ข้อ 1 แบบสอบถามได้ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา มีค่าดัชนีความเที่ยงที่ 0.9921 หลังจากนั้นสร้างแบบสอบถามสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเรขศิลป์ 34 ท่านด้วยเทคนิคเดลฟาย เพื่อให้ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ข้อ 2 และ 3 แบบสอบถามได้ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา มีค่าดัชนีความเที่ยงที่ 1.0000
ผลการวิจัยพบว่า อาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภาคเหนือ ได้แก่ แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม อาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของของภาคกลาง ได้แก่ แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ห่อหมกปลา แกงเผ็ด พะแนง แกงส้ม อาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ไส้กรอกอีสาน ส้มตำ ลาบ น้ำพริกปลาร้า ปลาร้าบอง อาหารที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของของภาคใต้ ได้แก่ แกงไตปลา ข้าวยำ แกงเหลือง คั่วกลิ้ง ปลาทอดขมิ้น บูดูทรงเครื่อง ไก่กอ ผัดสะตอ
การออกแบบระบบอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารภาคเหนือ สัญลักษณ์ ได้แก่ 1. แบบสมมาตรหลายแกน 2. แบบเปิด 3. แบบเส้นโค้ง 4. แบบไม่มีเส้นขวาง ตัวอักษรไทย ได้แก่ Handwriting และ Crossover ตัวอักษรอังกฤษ ได้แก่ Humanist และ Glyphic อารมณ์และสี ได้แก่ ธรรมชาติ เผ่าพันธุ์ พฤษศาสตร์ และสงบ
การออกแบบระบบอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารภาคกลาง สัญลักษณ์ ได้แก่ 1. แบบสมมาตรหลายแกน 2. แบบเปิด 3. แบบเส้นโค้ง 4. แบบเส้นขวาง ตัวอักษรไทย ได้แก่ Neo geometric และ Crossover ตัวอักษรอังกฤษ ได้แก่ Humanist Garalde Geometric และ Glyphic อารมณ์และสี ได้แก่ รื่นรมย์ เมือง บำรุงเลี้ยงดู น่าเชื่อถือ และอ่อนไหว
การออกแบบระบบอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัญลักษณ์ ได้แก่ 1.แบบสมมาตรหลายแกน 2. แบบเปิด 3. แบบเส้นตรง หรือแบบเส้นโค้ง 4. แบบเส้นขวาง ตัวอักษรไทย ได้แก่ Handwriting และ Crossover ตัวอักษรอังกฤษ ได้แก่ Humanist Garalde Mechanistic และ Script อารมณ์และสี ได้แก่ พื้นดิน สนุกสนาน ปะทะ และสบาย
การออกแบบระบบอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารภาคใต้ สัญลักษณ์ ได้แก่ 1. แบบสมมาตรแกนเดียว 2. แบบปิด 3. แบบเส้นตรง 4. แบบไม่มีเส้นขวาง ตัวอักษรไทย ได้แก่ Handwriting และ Modern ตัวอักษรอังกฤษ ได้แก่ Garalde Mechanistic Humanist และ Graphic อารมณ์และสี ได้แก่ เครื่องเทศ ยั่วยวน อำนาจ และกระฉับกระเฉง
การออกแบบระบบอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์อาหารไทย สัญลักษณ์ ได้แก่ 1. แบบสมมาตรหลายแกน 2. แบบปิด 3. แบบเส้นตรงและโค้ง 4. แบบเส้นขวาง ตัวอักษรไทย ได้แก่ Handwriting และ Crossover ตัวอักษรอังกฤษ ได้แก่ Humanist Garalde Didone Geometric และ Glyphic อารมณ์และสี ได้แก่ เครื่องเทศ ปะทะ หรูหรา เมือง และน่าเชื่อถือ