Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสถาปัตยกรรมของมหาสถูปบุโรพุทโธ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบการสร้างสรรค์และแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสถาปัตยกรรมของมหาสถูปบุโรพุทโธ งานวิจัยฉบับนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยมีวิธีดำเนินการวิจัยดังนี้ การรวบรวมข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การศึกษาสื่อสารสนเทศ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสัมมนา ประสบการณ์ของผู้วิจัย เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน และการทดลองสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์
ผลจากการวิจัย พบว่า การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสถาปัตยกรรมของมหาสถูปบุโรพุทโธเป็นผลงานในรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ สามารถแบ่งตามองค์ประกอบการแสดง 8 องค์ประกอบ คือ 1) บทการแสดง แบ่งเป็น 3 องก์ ได้แก่ องก์ 1 กามภูมิ องก์ 2 รูปภูมิ และองก์ 3 อรูปภูมิ 2) การคัดเลือกนักแสดง คัดเลือกจากนักแสดงที่มีทักษะและประสบการณ์การเต้นที่หลากหลาย ได้แก่ นาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์อินโดนีเซีย และทักษะในการแสดงออกทางด้านละคร 3) การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ ใช้ทักษะการเต้นที่หลากหลายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ คือ ลีลานาฏยศิลป์ตะวันตกและลีลานาฏยศิลป์ตะวันออก 4) การออกแบบเครื่องแต่งกาย แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ การแต่งกายในบทบาทนักท่องเที่ยวที่ใช้เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันที่หลากหลาย และการแต่งกายในการแสดงหลักที่ใช้เครื่องแต่งกายที่มีความเรียบง่ายตามแนวคิดศิลปะหลังสมัยใหม่ 5) การออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในชีวิตประจำวัน สามารถสื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมา 6) การออกแบบดนตรีและเสียงประกอบ สร้างสรรค์เพลงขึ้นใหม่ด้วยเสียงสังเคราะห์จากการเลียนแบบเสียงเครื่องดนตรีจากวงกาเมลัน เสียงสังเคราะห์จากเครื่องดนตรีสากล และเสียงจากเครื่องดนตรีตาราวังซาของประเทศอินโดนีเซีย 7) การออกแบบฉากและพื้นที่การแสดง ใช้ฉากโครงสร้างแผนผังบุโรพุทโธ และจัดแสดง ณ โรงละครแบล็ค บ๊อกซ์ เธียร์เตอร์ 8) การออกแบบแสง เพื่อสร้างมิติให้กับสัดส่วนของฉากประกอบการแสดง และส่งเสริมการสื่ออารมณ์ ลีลาท่าการเคลื่อนไหวของนักแสดงให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ แนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ เรื่อง การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากสถาปัตยกรรมของมหาสถูปบุโรพุทโธ ประกอบด้วยแนวคิด 6 ประการ คือ 1) แนวคิดจากภาพแผนผังทางสถาปัตยกรรมและปรัชญาทางศาสนาของมหาสถูป 2) แนวคิดทางทัศนศิลป์ 3) แนวคิดเรื่องความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 5) แนวคิดพื้นที่การแสดงในงานนาฏยศิลป์ 6) แนวคิดพหุวัฒนธรรม