Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากนิทรรศการผลงานทางนาฏยศิลป์ของนราพงษ์ จรัสศรี มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และเชิงคุณภาพ ที่มีกระบวนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ สื่อสารสนเทศ การสัมมนาประสบการณ์ของผู้วิจัย เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์มีองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ 1) การออกแบบบทการแสดง จากแก่นเรื่อง “การเดินทางสู่ความสำเร็จ” ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง (Storytelling) และการใช้เทคนิคแบบปะติด (Collage) นำไปสู่ความเป็นเลิศทั้ง 3 ประการของนราพงษ์ จรัสศรี ประกอบด้วย ในฐานะนักแสดง นักออกแบบสร้างสรรค์และนักวิชาการ โดยแบ่งออกเป็น 2 องก์การแสดง ประกอบด้วย องก์ 1 มี 5 ฉาก และองก์ 2 มี 5 ฉาก 2) การคัดเลือกนักแสดง เป็นผู้ที่มีทักษะทางด้านศิลปะการละครเป็นหลัก ประกอบทักษะทางด้านนาฏยศิลป์ 3) การออกแบบลีลานาฏยศิลป์ มีการใช้ลีลานาฏยศิลป์ไทย บัลเลต์ การเต้นแจ๊ส นาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ด้วยการใช้ลีลาท่าทางในกิจวัตรประจำวัน (Everyday Movement) ลีลาการด้นสด (Improvisation) และการเต้นแบบสมัยนิยม อาทิ การเต้นป๊อปปิ้ง (Popping) และการเต้นฮิปฮอป (Hiphop) ในรูปแบบนาฏยการแสดง (Dance Theatre) มาบูรณาการกับเส้นทางการสัญจรในการชมนิทรรศการด้วยการจัดวางแบบรูป (Pattern) ทิศทางการเคลื่อนที่ของนักแสดง 4) การออกแบบเสียงและดนตรีที่ใช้ในการแสดง เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยด้วยเสียงขลุ่ย และวัฒนธรรมตะวันตกด้วยแซ็กโซโฟน ประกอบกับเพลงตามยุคสมัยในช่วงชีวิตของนราพงษ์ จรัสศรี และการแต่งเพลงแร็พ (Rap) ขึ้นมาใหม่ที่สามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้5) การออกแบบอุปกรณ์ประกอบการแสดง แบ่งออกเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงขนาดใหญ่ที่เคลื่อนย้ายได้ (Set Props) ได้แก่ รองเท้าบัลเลต์ และหนังสือขนาดใหญ่ และอุปกรณ์ประกอบการแสดง (Prop) ได้แก่ รูปภาพ กระเป๋าเดินทาง เก้าอี้ โหลแก้วทรงกระบอก ชิงช้า 6) การออกแบบเครื่องแต่งกายที่เน้นความเรียบง่าย (Simplicity) นำลักษณะเด่นของเครื่องแต่งกายแต่ละประเภทมาสื่อความหมายแทน 7) การออกแบบพื้นที่การแสดง แบ่งพื้นที่การแสดงออกเป็น 2 ส่วน 1.พื้นที่ภายนอกโรงละครที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ (Performative Space) และพื้นที่ภายในโรงละครพื้นที่เล่าเรื่อง (Narrator Space) โดยใช้แนวคิดจากศิลปะแบบเฉพาะที่ (Site Specific Art) 8) การออกแบบแสง ใช้เพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก ด้วยทิศทางของแสง ความเข้ม สีของแสง และสัญญะแทนความ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังการสร้างสรรค์ผลงาน 6 แนวคิด ดังนี้ 1) คำนึงถึงเอกลักษณ์ในผลงานทางนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ของนราพงษ์ จรัสศรี 2) แนวคิดการจัดนิทรรศการ 3) แนวคิดความคิดสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 4) แนวคิดความหลากหลายของรูปแบบการแสดง 5) แนวคิดทางด้านทัศนศิลป์ นาฏยศิลป์และดุริยางคศิลป์ และ 6) แนวคิดสัญญะในงานนาฏยศิลป์
การวิจัยครั้งนี้สามารถสะท้อนความเป็นเลิศของนราพงษ์ จรัสศรี ได้ทั้ง 3 ประการ ได้แก่ 1.นักแสดง 2.นักออกแบบสร้างสรรค์ และ3.วิชาการ ที่ควรค่าแก่การยกย่องไปสู่ผลงานที่เป็นรูปธรรมผ่านแนวคิดการจัดนิทรรศการที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานทางนาฏยศิลป์ของนราพงษ์ จรัสศรี เป็นนิทรรศการที่มีชีวิต “นาฏยศิลปินนิทรรศ” ให้คนรุ่นใหม่ได้สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในอ้างอิง เกิดแรงบันดาลใจ เพื่อนำไปสู่การต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ต่อไปในอนาคต จึงกล่าวได้ว่า นราพงษ์ จรัสศรี เป็นผู้ที่มี นวัตกรรมทางความคิดสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์อยู่เสมอ