Abstract:
การศึกษาเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: เพลงตับเรื่อง “วิถีชีวี นทีสยาม” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปานครหลวงและมูลบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: เพลงตับเรื่อง “วิถีชีวี นทีสยาม” ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาข้อมูลเอกสารและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผลการวิจัยพบว่า แหล่งน้ำดิบที่การประปานครหลวงนำมาเป็นน้ำต้นทุนมาจากแม่น้ำ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง โดยการลำเลียงน้ำเข้าสู่คลองประปาเพื่อทำการบำบัด และนำจ่ายให้กับประชาชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ
วิธีการประพันธ์ ศึกษาองค์ความรู้จากการค้นคว้าเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิอีกทั้ง ศึกษาเพลงที่เกี่ยวข้องกับน้ำเพื่อดูกระบวนการในการสร้างสรรค์เพลง และออกแบบทำนองที่มีทั้งลักษณะของอาการและลักษณะทางกายภาพของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งหมด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประพันธ์เพลง แบ่งการประพันธ์ไว้ 2 ส่วน ส่วนแรก ประพันธ์บทกลอน มีทั้งสิ้น 3 บทกลอน โดยบทกลอนที่ 1 กล่าวถึงวัฏจักรของน้ำและการก่อกำเนิดชีวิต บทกลอนที่ 2 กล่าวถึงแหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปานครหลวง และบทกลอนที่ 3 กล่าวถึงขั้นตอนในการผลิตน้ำประปา การลำเลียงน้ำเข้าสู่ครัวเรือน และความสุขที่คนไทยได้มีน้ำสะอาดใช้ ประพันธ์บทกลอนชนิดกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ส่วนที่ 2 ประพันธ์ทำนองเพลง แบ่งเป็น 3 ช่วง 9 บทเพลง ได้แก่ ช่วงที่หนึ่ง สายน้ำแห่งชีวิต: ต้นกำเนิดของแหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปา มี 3 เพลง คือ เพลงมูรธาธาร เพลงเอกโอฬารเจ้าพระยา และเพลงวหาแม่กลองสุขสวัสดิ์ ช่วงที่สอง ผลผลิตทรงคุณภาพ: การตรวจจับสารพิษและการบำบัดน้ำ มี 4 เพลง ได้แก่ เพลงมัศยาคงคาลัย เพลงพลาดิศัยบูรณาสินธุ์ เพลงนฤมลทินธารวิสุทธิ์ และเพลงศรีอัมพุชชโลทร และช่วงที่สาม ตราบนทีเขษม: การลำเลียงน้ำเข้าสู่ครัวเรือนเพื่อความผาสุกของประชาชน มี 2 เพลง ได้แก่ เพลงสืบสายนาครสาคเรศ และเพลงสมเจตนามหานที โดยบทเพลงทั้ง 9 เพลง ใช้วิธีการประพันธ์แบบอัตโนมัติ และประพันธ์จากทำนองต้นราก
วงดนตรีที่ใช้บรรเลง ได้แก่ วงดนตรีพิเศษ โดยรูปแบบของวงดนตรีจะเป็นวงที่ใช้วงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย เครื่องตี เครื่องเป่า รวมถึงเครื่องตกแต่งเสียงธรรมชาติ