Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากการแสดงเฉพาะที่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วัดช้างล้อม โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ สื่อสารสนเทศ
การสังเกตการณ์ การสัมมนา ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย และเกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์ นำข้อมูลมาตรวจสอบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้
ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากการแสดงฉพาะที่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีรูปแบบในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ทั้งสิ้น 7 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การเลือกพื้นที่ที่ใช้ในการนำเสนอ คือ วัดช้างล้อมณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประกอบไปด้วย ระเบียงคด เจดีย์ และวิหาร 2) บทการแสดง แบ่งออกเป็น 5 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 อารัมภบท (Overture) องก์ที่ 2 สำรวจ (Explore) องก์ที่ 3 ประทับใจ (Impress) องก์ที่ 4 แสดงออก (Express) และองก์ที่ 5 สรุป (Conclusion) 3) ลีลานาฏยศิลป์แสดงออกผ่านลีลาการเคลื่อนไหวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (Everyday Movement) และการด้นสด (Improvisation) 4) ผู้วิจัยคัดเลือกนักแสดงที่มีทักษะนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์ร่วมสมัย 5) เครื่องแต่งกายให้ความสำคัญกับรูปแบบที่เรียบง่าย มีความกลมกลืนกับพื้นที่ ออกแบบในรูปแบบที่ไม่เจาะจงเพศ 6) เสียงและดนตรีประกอบการแสดงได้แก่ เสียงธรรมชาติ และดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ และ 7) แสงที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้แสงธรรมชาติ เรียงตามลำดับจากองก์ 2-5 เป็นแสงในช่วงเวลา บ่าย เย็น เช้า สาย นอกจากนี้ผู้วิจัยยังหาแนวคิดที่ได้หลังการแสดงที่ต้องคำนึงถึง 5 ประการ ได้แก่ 1) สถานที่และโบราณสถาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) ความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 3) การออกแบบพื้นที่ 4) ความเรียบง่ายตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ 5) แนวคิดทฤษฎีทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการทดลองสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ที่บูรณาการองค์ความรู้กับศาสตร์ด้านโบราณคดีและสถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจศึกษาการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์เฉพาะที่ในอนาคตต่อไป