Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้วิจัย ได้ศึกษาสาเหตุและผลกระทบของการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและนำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบและแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพและการทดลองและวิจัยสร้างสรรค์ผลงานการแสดงทางด้านศิลปะ ที่มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสัมมนา สื่อสารสนเทศ เกณฑ์การสร้างมาตรฐานในการยกย่องบุคคลต้นแบบทางด้านนาฏยศิลป์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ สังเคราะห์และสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์ในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 8 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บทการแสดง ได้มาจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบของภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 4 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 บทนำ องก์ที่ 2 สาเหตุของภาวะการเรียนรู้ถดถอย องก์ที่ 3 ผลกระทบของภาวะการเรียนรู้ถดถอย และองก์ที่ 4 บทสรุป 2) ลีลานาฏยศิลป์ มีการใช้ลีลานาฏยศิลป์ตะวันตกในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ นาฏยศิลป์รูปแบบบัลเลต์คลาสสิก นาฏยศิลป์รูปแบบแจ๊สสมัยใหม่ นาฏยศิลป์สมัยใหม่ นาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ ที่ใช้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน และการเคลื่อนไหวลีลาท่าทางแบบทำซ้ำ การด้นสดและการใช้ศิลปะการแสดง 3) คัดเลือกนักแสดง คัดเลือกจากทักษะความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ตะวันตก การด้นสดและศิลปะการละคร ประสบการณ์ของผู้แสดง และมีคุณลักษณะของผู้แสดงอันพึงประสงค์ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องเพศและรูปร่าง จำนวนทั้งสิ้น 7 คน 4) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการคำนึงถึงความเหมาะสมในการเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ เก้าอี้ สมุด ชั้นวางของ ขนม หมอน กระเป๋า 5) เสียงและดนตรีประกอบการแสดง ใช้เสียงระฆังโรงเรียน เสียงเข็มนาฬิกา เสียงข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านการเรียนรู้ถดถอย และปัญหาทางด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และเสียงดนตรีบรรเลง 6) เครื่องแต่งกาย ใช้แนวคิดการใช้สัญลักษณ์ในการออกแบบเครื่องแต่งกายตามบทบาทของตัวละคร โดยการเลือกใช้เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันและเครื่องแบบนักเรียน 7) พื้นที่การแสดง ใช้พื้นที่ห้องสตูดิโอ ในการถ่ายทำการแสดง 8) แสง ใช้ทฤษฎีทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ในการออกแบบแสงที่สื่อถึงบรรยากาศและอารมณ์ของการแสดง นอกจากนี้ผู้วิจัยได้คำนึงถึงแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ โดยคำนึงถึงแนวคิดสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 1) การคำนึงถึงแนวคิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย 2) การคำนึงถึงแนวคิดการสะท้อนปัญหาสังคมไทย 3) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงการใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงการสื่อสารกับผู้ชม และ 6) การคำนึงถึงทฤษฎีทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทุกประการ