Abstract:
การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: พระธาตุดอยตุง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาตำนานและรูปแบบการสร้างพระธาตุดอยตุงและนำมาเป็นแรงบันดาลใจและแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์: พระธาตุดอยตุง ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลทางด้านเอกสาร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม ข้อมูลสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดโครงสร้างของบทเพลงและสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์
ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดในการประพันธ์มี 5 แนวคิด 1) ฐานและองค์เจดีย์ 2) กระสวนทำนองบูชาพระธาตุ 3) การสร้างสำเนียงลาวจก 4) การสร้างพระธาตุคู่กันสององค์ 5) พิธีกรรมทางศาสนา สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางดุริยางคศิลป์แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1) ปฐมศรัทธาสมโภช ประกอบด้วย เกริ่นพระธาตุดอยตุงปฐมบทต่อด้วยจ๊อยตำนานพระธาตุดอยตุง เพลงปรากฏนาคพัน เพลงศุทธิ์สรรค์ศรัทธา ช่วงที่ 2) เรืองโรจน์รังสฤษฎ์ ประกอบด้วยเพลงอชุตราชสถาปนา เพลงลาวจกบริบาล เพลงศานต์จิตบูชาพระรากขวัญ เพลงรังสรรค์เคียงสถาพร ช่วงที่ 3) เพริศพิศบูชา ประกอบด้วยเพลงแห่น้อยดอยตุง ช่วงที่ 4) เทวารักษ์พระธาตุดอยตุง ประกอบด้วยเพลงเทวาประชารักษ์นิรันดร์ โดยการประพันธ์ใช้ลักษณะการสร้างสำเนียงเพลงและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างทำนองเพลงขึ้นใหม่ อาศัยเพลงต้นรากและการประพันธ์โดยอัตโนมัติ สร้างสรรค์หน้าทับขึ้นใหม่ บทเพลงใช้โครงสร้างเสียงกลุ่มเสียงปัญจมูล บันไดเสียงเพียงออบน บันไดเสียงเพียงออล่าง บันไดเสียงชวา มีการสร้างสรรค์รูปแบบการประสมวงกลองชาติพันธุ์ที่พบบริเวณพระธาตุดอยตุงคือ กลองตึ่งนง กลองตะลดปด กลองเต่งถิ้ง กลองมองเซิง กลองยาวลาหู่ วงสะล้อซอซึง วงป้าดก๊อง เพื่อดำเนินทำนองสร้างสำเนียงเสียงให้เกิดอรรถรสของบทเพลงและเติมเต็มจินตภาพของพระธาตุดอยตุงให้สมบูรณ์