Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องรำโทนนกพิทิด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา รูปแบบกระบวนท่าและองค์ประกอบของรำโทนนกพิทิด โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นการวิจัยภาคสนามเป็นหลัก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ และข้อมูลจากเอกสารเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูล ผลการศึกษามีดังนี้ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัฒนธรรมการละเล่นรำวงที่สืบทอดกันมา เนื่องจากในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้มีการเล่นรำโทนในหมู่ข้าราชการ ทหาร นายสร้วง จันทร์ชุม ทหารเกณฑ์กองหนุน จึงนำความรู้ประสบการณ์การรำและเพลงมาเผยแพร่ในพื้นที่กรุงชิง ต่อมาปี พ.ศ. 2484 ครูแนบ ล่องลือฤทธิ์ เป็นผู้มีทักษะพื้นฐานด้านการรำโนรา ได้เห็นและรับเอารำโทนจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชมาพัฒนาและเผยแพร่ จึงส่งผลต่อรูปแบบ องค์ประกอบและความเชื่อที่มีใกล้เคียงกับโนรา คือก่อนเริ่มการแสดงจะต้องทำพิธีไหว้ครู การแสดงเริ่มจากการร้องเพลงเชิญ ตามด้วยเพลงไหว้ครู และจบด้วยเพลงลา
มีกระบวนท่ารำที่ใช้แบบท่ามาจากท่าโนราและการตีบท เพลงแต่งโดยอิงจากธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในตำบลกรุงชิง โดยใช้โทนเป็นเครื่องดนตรีหลัก เครื่องแต่งกายจะสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยออกแบบตามภูมิปัญญาชาวบ้าน รำโทนนกพิทิดมาจากชื่อเพลงนกพิทิด เป็นเพลงเอกเน้นความตลกขบขัน ไม่เน้นความสวยงาม เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกี้ยวพาราสีของนกพิทิดตัวผู้ที่มีต่อตัวเมีย (นกถึดทืด) จึงเรียกการละเล่นนี้ว่า “รำโทนนกพิทิด” และผู้วิจัยได้เรียนรู้ว่าธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นนาฎกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน