Abstract:
นวัตกรรมการสร้างสรรค์ตราสินค้าเครื่องแต่งกายบุรุษ จากนวัตกรรมเส้นใยสาหร่ายในนากุ้ง สำหรับกลุ่มที่ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดซีโร่เวสท์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการสร้างมูลค่าสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตรสาหร่ายในนากุ้ง ให้เป็นนวัตกรรมวัสดุทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG การวิจัยในครั้งนี้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการวิจัยเชิงทดลอง และเชิงคุณภาพ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาแนวคิดทฤษฎีแนวคิดที่เกี่ยวข้อง คุณลักษณะ และคุณสมบัติของวัสดุ ขั้นตอนที่ 2 การทดลองการแปรรูป จากการศึกษาพบว่าสาหร่ายในนากุ้งเป็นวัชพืชตามธรรมชาติที่พบมากในเกษตรกรรมการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Microspora sp. มีเส้นสายไม่แตกแขนง เซลล์เรียงกันเป็นชั้นเดียว เซลล์มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกผนังเชลล์หนาแบ่งเป็นชั้นๆ และผนังตามยาวมีลักษณะเป็นตัว H ช้อนกัน มีคลอโรพสาสต์อยู่ข้างเซลล์รูปร่างคล้ายตาข่าย ด้วยลักษณะทางกายภาพของสาหร่ายในนากุ้งมีความเป็นเส้นใยจำนวนมากคล้ายเส้นผม เส้นใยมีความเหนียว เงา มีสีเขียวอ่อน และเข้ม เส้นใยมีความนุ่มใกล้เคียงกับขนสัตว์ ในการแปรรูปสาหร่ายในนากุ้งจำเป็นที่จะต้องล้างทำความสะอาด ตากให้แห้ง และตีเส้นใยให้ฟูเพื่อง่ายต่อการนำมาปั่น และทอผสมกับเส้นใยฝ้าย ด้วยการทดลองอัตราส่วนของเส้นใยสาหร่าย:เส้นใยฝ้าย 3 อัตราส่วน โดยอัตราส่วน 30:70 เส้นใยสามารถยึดเกาะกันได้ดีสิ่งทอที่ได้มีความแข็งแรง 50:50 เส้นใยสามารถยึดเกาะกันได้ปานกลางสิ่งทอที่ได้มีความแข็งแรงปานกลาง 70:30 เส้นใยสามารถยึดเกาะกันได้ค่อนข้างยากขาดง่าย สิ่งทอที่ได้มีความแข็งแรงข้อนข้างน้อย ซึ่งคุณสมบัติของแต่ละอัตราส่วนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยแตกต่างตามความเหมาะสม เช่น 30:70 เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ 50:50 เหมาะสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ 70:30 เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่ง สาหร่ายในนากุ้งจึงเป็นวัสดุทางเลือกที่สามารถมาใช้ในการผลิตเครื่องแต่งกายแฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ และความจำเพาะของผลิตภัณฑ์ โดยสิ่งทอที่ได้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าจากสิ่งไร้มูลค่าทางการเกษตร แล้วยังเป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่มีสิ่งใดเหลือทิ้ง