Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประเมินว่ามาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศเพียงพอหรือไม่ รวมถึงประเมินว่าบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนหรือไม่ โดยเริ่มต้นจากการแสดงสถานภาพและปัญหาของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ ตลอดจนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทฤษฎีเกี่ยวกับการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ
ในส่วนต่อมาเป็นการอธิบายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศเพื่อตรวจสอบว่านโยบาย กฎหมาย มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศเพียงพอหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบว่าอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนหรือไม่
นอกจากนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้ศึกษาเปรียบเทียบมาตรการเรื่องเดียวกันของประเทศสิงคโปร์ จีน และสหราชอาณาจักรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาตรการที่ใช้ในต่างประเทศมาพิจารณาเปรียบเทียบและเป็นต้นแบบเพื่อปรับใช้กับประเทศไทย
อีกทั้งยังมีในส่วนของกรณีศึกษาการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของธุรกิจร้านอาหารไทยและธุรกิจไทยสปาเพื่อทดสอบว่ามาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศสามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคแก่ธุรกิจร้านอาหารไทยและธุรกิจไทยสปาได้หรือไม่ ทั้งนี้จากการที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เลือกศึกษาธุรกิจร้านอาหารไทยและธุรกิจไทยสปาซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่ดำเนินการโดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเกือบทั้งหมดและที่สำคัญเป็นธุรกิจที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน
ส่วนสุดท้ายของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นบทสรุปที่ได้จากการพิสูจน์ข้อสมมติฐานและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศต่อไปโดยมีบทสรุปและข้อเสนอแนะว่า “มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยอีกทั้งบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนโดยยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและยังขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงาน ดังนั้นประเทศไทยควรกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวที่มีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนในรูปแบบของ “แผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามมาตรา 11(1) ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 และ “แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประสานกับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 11(5) มาตรา 16(3) มาตรา 17(5) มาตรา 37 และมาตรา 38 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543”
ทั้งนี้บทสรุปและข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นคุณค่าของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เนื่องจากการมีมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศตลอดจนการบูรณาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานซึ่งเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนย่อมส่งผลให้เกิดการติดตาม การประเมินผลและการพัฒนามาตรการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการลงทุนทางตรงในต่างประเทศต่อไป เมื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยสามารถจัดตั้งและดำเนินกิจการในต่างประเทศย่อมก่อให้เกิดผลดีแก่ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกการลงทุนและนำมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป