Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ที่มาวิวัฒนาการ และขอบเขตของการคุ้มครองเสรีภาพและขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่มีต่อคำวินิจฉัยศาลอันถึงที่สุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2561 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2562 โดยศึกษาเปรียบเทียบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีความ ศึกษาแนวทางการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วอย่างเหมาะสม
จากการศึกษาพบว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของประเทศไทย มีแนวคิด ทฤษฎี ที่มาวิวัฒนาการ และขอบเขตของการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้ว แตกต่างกับกฎหมายประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทำให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วเกิดความไม่ชัดเจน และการบังคับใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วของบุคคล
ดังนั้นวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงข้อเสนอแนะให้แก้ไขข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2562 ข้อ 10 และ ข้อ 11 เพื่อให้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลอันถึงที่สุดแล้วของบุคคลได้รับความคุ้มครองและการบังคับใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นไปอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย