Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงหลักเกณฑ์การนำมาตรการปรับมาใช้ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง เป็นบทบัญญัติตามมาตรา 75/4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559 ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร พ.ศ. 2560 โดยได้นำบทบัญญัติเรื่องมาตรการปรับที่ปรากฏในกฎหมายต่างประเทศมาศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และนำมาพัฒนาบทบัญญัติต่างๆ เพื่อให้การใช้มาตรการปรับมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติเรื่องผู้มีสิทธิร้องขอใช้มาตรการปรับตามข้อ 4 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่
ของรัฐที่มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิร้องขอใช้มาตรการปรับได้มีเพียงคู่กรณี แต่ไม่ได้บัญญัติเพื่อให้คำนิยามว่า คู่กรณีหมายถึงผู้ใดบ้าง อีกทั้งไม่ได้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลในการเรียกค่าปรับซ้ำได้ หากยังไม่มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง
ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ
ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร พ.ศ. 2560 โดยเพิ่มเติมนิยามคำว่า คู่กรณี และเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลในการเรียกค่าปรับซ้ำได้ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐชำระค่าปรับต่อศาล แต่ความปรากฏต่อศาลว่า ยังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วน ให้ศาลมีอำนาจสั่งปรับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวทุกหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการชำระค่าปรับ จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามคำบังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้บทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการนำมาตรการปรับมาใช้ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองไทยมีความชัดเจนและเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้การบังคับคดีเป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนวยความยุติธรรมโดยแท้จริง