Abstract:
สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อด้านต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิตของประชากรโลก ผู้เขียนจึงมุ่งศึกษาแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดต่อระหว่างประเทศตามข้อคำนึงถึงเนื้อหาของสิทธิด้านสุขภาพตาม CESCR General Comment No. 14: The Right to the Highest Attainable Standard of Health (Art. 12) โดยมีการศึกษาถึงแนวทางของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อให้สิทธิด้านสุขภาพได้รับการคุ้มครอง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการศึกษาความสัมพันธ์ของสิทธิด้านสุขภาพกับสิทธิมนุษยชนประการอื่น ๆ และบรรดาข้อจำกัดในยุคของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้สิทธิด้านสุขภาพตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเทศไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากการศึกษาพบว่า การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ภายในประเทศตามแนวทางของกฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลกยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศไทย เนื่องจากพบความท้าทายในการประยุกต์ใช้สิทธิ ได้แก่ การกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติ อุปสรรคในการเข้าถึงระบบสุขภาพของกลุ่มบุคคลที่อ่อนแอ การขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน การควบคุมโรคระบาด การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สินค้า และบริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นำไปสู่การดำเนินมาตรการที่เป็นข้อจำกัดสิทธิมนุษยชนประการอื่น
ดังนั้น ความท้าทายในการประยุกต์ใช้สิทธิด้านสุขภาพ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงต้องหาแนวทางแก้ไข โดยมุ่งเน้นที่การปรับใช้นโยบายและมาตรการตามข้อคำนึงถึงเนื้อหาของสิทธิด้านสุขภาพตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุถึงการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพได้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019