Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ทำการศึกษา “มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกเพื่อป้องกันสังคม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบมาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันสังคม
จากการศึกษาพบว่า มาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกในส่วนของมาตรา 56 และมาตรา 57 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และกรณีอื่น ๆ ยังไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้เสียหายและความปลอดภัยของสังคมกับสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังไม่มีความสมดุลระหว่างความปลอดภัยของสังคมตามหลักป้องกันสังคม (social protection principle) กับสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาคือ ณ ปัจจุบันกระบวนทัศน์หลัก (major paradigm) เกี่ยวกับมาตรการนี้ยังคงอยู่ในยุครัฐสวัสดิการ (welfare state era) ที่สิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นกรณีที่มาตรการนี้ได้คำนึงถึง “สิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิด” เป็นสำคัญ ส่งผลให้มาตรการนี้ทั้งในด้านบทบัญญัติ (law) และการปรับใช้บทบัญญัติ (application of law) ตั้งอยู่บนฐานความคิดของสิทธิ เสรีภาพ และโอกาสของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก สภาวะเช่นนี้จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญตามมาคือ “ความไม่ปลอดภัยแก่สังคม”
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลักเกี่ยวกับมาตรการรอการกำหนดโทษและรอการลงโทษจำคุกจากยุครัฐสวัสดิการสู่ยุคสังคมแห่งความเสี่ยง (social era of risk) ที่วงการนิติศาสตร์ได้มีการตั้งข้อสังเกต ตระหนัก และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงอันเป็นผลมาจากการมีอยู่และการปรับใช้มาตรการนี้อย่างจริงจังเนื่องจากนักนิติศาสตร์มีความวิตกกังวลว่าผลที่เป็นภยันตราย (การประกอบอาชญากรรม) จากการมีอยู่และการปรับใช้มาตรการนี้จะเกิดขึ้นกับตนเอง ประชาชน และ/หรือสังคม ซึ่งเป็นกรณีที่มาตรการนี้ได้คำนึงถึง “ความปลอดภัยของสังคม” เป็นสำคัญ ส่งผลให้มาตรการนี้ทั้งในด้านบทบัญญัติและการปรับใช้บทบัญญัติจะตั้งอยู่บนฐานความคิดของการป้องกันสังคมตามหลักป้องกันสังคมเป็นหลัก เพื่อจำกัด ควบคุม และป้องกันไม่ให้เกิดการประกอบอาชญากรรมขึ้นในอนาคต สภาวะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดผลดีตามมาคือ “ความปลอดภัยแก่สังคม” นอกจากข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้นแล้ว วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้นำเสนอรูปแบบมาตรการนี้ที่ควรจะเป็นเพื่อป้องกันสังคม ซึ่งหากมีการนำรูปแบบดังกล่าวข้างต้นไปปรับใช้ จะช่วยสร้างความปลอดภัยแก่สังคมมากยิ่งขึ้น