Abstract:
สัญญาจ้างแรงงาน โดยหลักแล้วเป็นสัญญาซึ่งอยู่บนพื้นฐานสัญญาทางแพ่ง ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน ตั้งแต่มาตรา 575 ถึงมาตรา 586 โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจะเป็นกรณีลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้าง และนายจ้างก็ตกลงจ่ายสินจ้าง หรือค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ซึ่งนอกจากค่าจ้างแล้ว นายจ้างก็อาจต้องจ่ายเงินอื่น ๆ ให้แก่ลูกจ้างด้วย เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยเงินดังกล่าวในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะขอเรียกว่า “เงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” ซึ่งหากนายจ้างไม่จ่ายก็เท่ากับว่านายจ้างกระทำผิดสัญญา อย่างไรก็ตาม การผิดสัญญาจ้างแรงงานในกรณีไม่จ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แม้ว่าจะเป็นความผิดทางแพ่ง แต่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กลับกำหนดให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอาญา ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวลูกจ้างส่วนใหญ่มิได้ประสงค์จะให้มีการดำเนินคดีอาญากับนายจ้าง เพียงแต่ประสงค์จะเรียกร้องค่าจ้างตามสิทธิพึงได้เท่านั้น ซึ่งหากมีการลงโทษอาญานายจ้างแล้ว ลูกจ้างก็ยังคงต้องดำเนินการเรียกร้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อยู่เช่นเดิม ได้แก่ การฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมิได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอาญาเลย นอกจากนี้ ความผิดดังกล่าวยังไม่อยู่บนพื้นฐานการกำหนดโทษหรือวัตถุประสงค์การลงโทษในทางอาญา ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจจะขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อีกด้วย เป็นผลให้เกิดกฎหมายอาญาเฟ้อ และก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมากมาย ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อยกเลิกความผิดและโทษทางอาญากรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้แก่ลูกจ้าง และแสวงหาแนวทางอื่นในการจัดการกับความผิดดังกล่าวแทน