Abstract:
จากสภาพสังคมปัจจุบันที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้งานหรือบุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ลงบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่ผู้ใช้งานดัดแปลงจากผลงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น (User-Derived Content)(“UDC”) ที่มักนำผลงานอันมีลิขสิทธิ์มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และผู้ทำผลงาน UDC ส่วนมากไม่อาจอ้างข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อให้รับความคุ้มครองได้ จึงเป็นประเด็นที่ควรศึกษาหาแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทำผลงาน UDC อย่างเหมาะสม
เมื่อศึกษาถึงข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสาธารณรัฐเกาหลี พบว่า สหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐเกาหลีกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีลักษณะเป็นการทั่วไป ซึ่งสามารถปรับใช้เพื่อให้ความคุ้มครองกับ UDC เป็นรายกรณีได้ หากพิจารณาแล้วว่าเป็นการใช้งานที่เป็นธรรม ในขณะที่แคนาดากำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นกรณีเฉพาะสำหรับการทำผลงานสร้างสรรค์ของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต (User-Generated Content)(“UGC”) ซึ่งหากผลงาน UDC ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วย่อมได้รับความคุ้มครอง
วิทยานิพนธ์นี้จึงเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ทำผลงาน UDC โดยการแก้ไขมาตรา 32 ให้เป็นบทบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีลักษณะเป็นการทั่วไป โดยนำแนวทางของสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐเกาหลีมาปรับใช้ ประกอบกับการนำแนวทางการกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศแคนาดามาปรับใช้ เพื่อให้ความคุ้มครองการสร้างสรรค์ของผู้ทำ UDC อันสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายลิขสิทธิ์และเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่อไป