Abstract:
การกระทำร่วมกันโดยอาศัยอัลกอริทึมของผู้ประกอบธูุรกิจเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดการลด จำกัด หรือผูกขาดการแข่งขัน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 54 อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ปรากฏคดีเกี่ยวกับการพิจารณาการกระทำร่วมกันโดยใช้อัลกอริทึมของผู้ประกอบธุรกิจ เนื่องด้วยถ้อยคำตามบทบัญญัติที่ไม่อาจตีความได้หากปราศจากพยานหลักฐานหรือพฤติการณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่จะชี้ถึงการมีอยู่ของการกระทำร่วมกันโดยใช้อัลกอริทึมของผู้ประกอบธุรกิจ ส่งผลให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นข้อบกพร่องในการกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว
จึงควรมีการวางแนวทางหรือกำหนดมาตรการเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน หรือแนวทางการพิจารณาการกระทำร่วมกันโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรืออัลกอริทึม เพื่อให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของประเทศไทยและบทลงโทษจากการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว ได้แก่ โทษทางอาญาและโทษทางปกครอง เพื่อความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายและเท่าทันต่อเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นจะเกิดสุญญากาศทางกฎหมายของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจจะฉวยโอกาสในการแสงหาประโยชน์ร่วมกันโดยอาศัลอัลกอริทึม ทั้งนี้จากการศึกษาเห็นว่าแนวทางของกฎหมายต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาแนวทางการตีความกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หรือแนวทางการพิจารณาของศาลในประเทศต่างๆ ในประเด็นการกระทำร่วมกันโดยใช้อัลกอริทึมของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย