Abstract:
อุบัติการณ์ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบริเวณช่องปากในประเทศไทยพบว่ามีประมาณร้อยละ 5.4 ของประชากรทั้งหมดทั้งในเพศชายและเพศหญิง ผู้ป่วยเหล่านี้อาจได้รับการฉายรังสีรักษาก่อน และ/หรือหลังการรักษาจากการผ่าตัด วัสดุทางทันตกรรมหลายชนิดที่มีการกระเจิงกลับของรังสีรักษาจะส่งผลทำให้เกิดปริมาณรังสีกระเจิงกลับบริเวณรอบๆเนื้อเยื่อในช่องปากหรือกระดูกที่ติดกับวัสดุเหล่านี้เพิ่มขึ้นและเกิดผลข้างเคียงตามมาคือภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบและการเกิดกระดูกตาย วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้จึงทำเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปริมาณรังสีกระเจิงกลับของวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะ 4 ชนิดคือ โลหะผสมทองชนิดที่ 4, แพลลาเดียมอัลลอย, ไทเทเนียมบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ (ระดับ 4) และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึก โดยนำมาฉายด้วยรังสีโฟตอนขนาด 200 cGy และให้พลังงานรังสี 6 MV จากเครื่องฉายรังสีชนิดเร่งอนุภาคเชิงเส้น(ลิแนค) ซึ่งเป็นรังสีที่มีชนิดและขนาดเดียวกับรังสีที่ใช้รักษามะเร็งศีรษะและลำคอ ในการทดลองจะฉายรังสีจำนวน 2 ครั้งต่อกลุ่มชนิดโลหะ โดยแต่ละกลุ่มชนิดโลหะจะประกอบไปด้วยชิ้นงานขนาด 8x13x1 มม.3 จำนวน 5 ชิ้น แต่ละชิ้นงานจะมีแผ่นวัดรังสีโอเอสแอลประกบแนบสนิทอยู่ด้านบนเพื่อทำการวัดปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่ระยะประชิดผิวชิ้นงาน(0 มม.) จากนั้นจึงทำการคำนวณหาร้อยละของปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่เพิ่มขึ้นจากวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะทั้ง 4 ชนิดและเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติชนิดวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และใช้ Post Hoc Test คือ Bonferroni ผลการวิจัยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบปริมาณรังสีกระเจิงกลับและร้อยละของปริมาณรังสีที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มโลหะผสมทองและแพลลาเดียมอัลลอย เทียบกับไทเทเนียมบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ (ระดับ 4) และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปริมาณรังสีกระเจิงกลับและร้อยละของปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มไทเทเนียมบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ (ระดับ 4) และไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึก สรุปได้ว่าปริมาณรังสีกระเจิงกลับที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มวัสดุทางทันตกรรมชนิดโลหะ 4 ชนิดเรียงลำดับจากน้อยที่สุดไปมากที่สุดคือ ไทเทเนียมอัลลอยที่ผลิตโดยวิธีเลเซอร์เผาผนึก, ไทเทเนียมบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ (ระดับ 4), แพลลาเดียมอัลลอย และโลหะผสมทอง