Abstract:
เซอร์โคเนียชนิดใสในงานทันตกรรมมีแนวโน้มถูกใช้โดยทันตแพทย์เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากความแข็งแรง และความสวยงามโดยไม่จำเป็นต้องพอกผิวด้วยพอร์ซเลน การยึดวัสดุดังกล่าวต่อฟันมีผลต่อความยั่งยืนของการบูรณะ เรซินซีเมนต์ที่มีฟอสเฟตมอนอเมอร์ชนิดต่างๆถูกอ้างว่าให้แรงยึดที่ดีกว่าต่อวัสดุเซอร์โคเนียชนิดใส หากแต่ยังไม่มีความชัดเจนในศักยภาพของฟอสเฟตมอนอเมอร์ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาค่ากำลังแรงยึดเฉือนของเรซินซีเมนต์สองชนิดที่ประกอบด้วยหมู่ฟอสเฟตต่างชนิดกันบนเซอร์โคเนียชนิดใสต่อคอมโพสิตเรซิน โดยพื้นที่ยึดติดได้ถูกกำหนดตาม ISO 29022:2013 เซอร์โคเนียชนิดใส (Ceramill® zolid fx White) จึงถูกเตรียมให้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5 มม. หนา 3.2 มม. จำนวน 32 แผ่น และถูกนำมายึดกับคอมโพสิตเรซินชนิดนาโนคอมโพสิต (FiltekTM Z350 XT) ผ่านศูนย์กลาง 3.0 มม. หนา 2.0 มม. ด้วยเรซินซีเมนต์สองชนิดคือ PANAVIA ™ V5 และ Rely X ™ U200 โดยเรซินซีเมนต์แต่ละชนิดจะถูกแบ่งออกอีกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ใช้ร่วมกับ Clearfil ceramic primer plus และกลุ่มที่ไม่ใช้ร่วมกับ Clearfil ceramic primer plus ทำให้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกได้เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ชิ้น และความหนาของเรซินซีเมนต์ถูกกำหนดตาม ISO 4049:2009 ภายหลังการยึดติดชิ้นงานทุกชิ้นถูกนำไปผ่านกระบวนการเทอร์โมไซคลิงจำนวน 5,000 รอบ และถูกทดสอบกำลังแรงยึดเฉือนจนชิ้นคอมโพสิตเรซินหลุดด้วยเครื่องทดสอบแรงดึงแรงอัด(EZ-S, SHIMADZU) และสังเกตรูปแบบความล้มเหลวด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด(SEM)(FEI Quanta 250) ค่ากำลังแรงยึดเฉือนถูกคำนวณด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบชนิดทูกีย์ (One-way ANOVA and Tukey’s post hoc test) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการทดลองกลุ่ม PANAVIA ™ V5 ร่วมกับ Clearfil ceramic primer plus แสดงกำลังแรงยึดเฉือนมากที่สุด (1.38 ± 0.39 เมกะพาสคาล) และมีรูปแบบความล้มเหลวแบบผสมร่วมกับเชื่อมแน่นล้มเหลว โดยความล้มเหลวแบบผสมมีค่าเฉลี่ยร้อยละปริมาณเรซินซีเมนต์คงเหลือบนเซอร์โคเนียชนิดใสมากที่สุด(ร้อยละ 48.56±9.44) กลุ่มPANAVIA ™ V5 ที่ไม่ใช้ Clearfil ceramic primer plus แสดงกำลังแรงยึดเฉือนต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และมีรูปแบบความล้มเหลวแบบผสมร่วมกับรูปแบบยึดไม่อยู่ อย่างไรก็ตามกำลังแรงยึดเฉือนของเรซินซีเมนต์ที่มีฟอสเฟตมอนอเมอร์ต่างชนิดกันนั้นมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุป PANAVIA ™ V5 หากไม่ได้ใช้ร่วมกับไพรเมอร์จะให้กำลังแรงยึดที่ต่ำที่สุด จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับ Clearfil ceramic primer plus เพื่อเพิ่มกำลังแรงยึดเฉือน ดังนั้นการยึดเซอร์โคเนียชนิดใสจึงควรใช้เรซินซีเมนต์ที่มีฟอสเฟตมอนอเมอร์เป็นส่วนประกอบ หากใช้เรซินซีเมนต์ที่ไม่มีฟอสเฟตมอนอเมอร์ ควรทาไพรเมอร์ที่มีฟอสเฟตมอนอเมอร์ก่อน โดยเอ็มดีพี หรือฟอสฟอริกเมทะไครเลทเอสเตอร์นั้นพบว่าให้กำลังแรงยึดเฉือนที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ