Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากชนิด แบบประเมินผลกระทบของสุขภาพช่องปากสำหรับเท็มโพโรแมนดิบิวลาร์ดิสออเดอร์ ฉบับภาษาไทย และทดสอบคุณสมบัติการวัดทางจิตวิทยาของแบบประเมิน วิธีการวิจัยทำโดยการแปลแบบประเมินต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยและดัดแปลงข้ามวัฒนธรรม รวมถึงทดสอบความตรงเชิงเนื้อหาด้วยการหาค่าดัชนีความเที่ยงตรงของเนื้อหา โดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้าจำนวน 5 ท่าน จากนั้นนำแบบประเมินไปทดสอบกับผู้ป่วยคนไทย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยทีเอ็มดี 110 คน และกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะทีเอ็มดีซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม 110 คน การทดสอบความเที่ยงภายในใช้การคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคแอลฟาจากคะแนน OHIP-TMDs ของกลุ่มผู้ป่วยทีเอ็มดี ทดสอบความตรงเชิงโครงสร้างด้วยวิธีการตรวจสอบจากกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยประเมินความแตกต่างของคะแนนของ OHIP-TMDs ระหว่างผู้ป่วยทีเอ็มดีและกลุ่มควบคุม รวมถึงทดสอบความเที่ยงจากการทดสอบซ้ำโดยผู้ป่วยทีเอ็มดี 30 คน กำหนดระยะเวลาห่างกัน 2 วัน และใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้นในการคำนวณ การทดสอบทั้งหมดจะกำหนดการทดสอบทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการวิจัยพบว่าแบบประเมินผลกระทบของสุขภาพช่องปากสำหรับเท็มโพโรแมนดิบิวลาร์ดิสออเดอร์ ฉบับภาษาไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นมีคุณสมบัติการวัดทางจิตวิทยาที่ดี โดยแบบประเมินมีความตรงและความเที่ยงเมื่อนำมาศึกษาในผู้ป่วยคนไทย ซึ่งคะแนนของ OHIP-TMDs ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยทีเอ็มดีและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงถึงความตรงเชิงโครงสร้าง รวมถึงมีค่าดัชนีความเที่ยงตรงของเนื้อหาที่ระดับ 0.92 ค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคแอลฟาที่ระดับ 0.942 และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ภายในชั้นที่ระดับ 0.808 ดังนั้นแบบประเมิน OHIP-TMDs จึงมีแนวโน้มที่จะนำไปใช้ทางคลินิกสำหรับการประเมินและการจัดการภาวะทีเอ็มดีในกลุ่มผู้ป่วยคนไทยได้