Abstract:
จากการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงแค่การฝึกเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและร่างกายเท่านั้นที่ส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการทรงตัว แต่ยังพบว่าการฝึกกระตุ้นระบบรับรู้การทรงตัวในหูชั้นในส่งผลต่อความสามารถในการทรงตัวที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพื่อให้ครอบคลุมถึงกลไกการควบคุมการทรงตัว ผู้วิจัยจึงสนใจการฝึกกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทสั่งการ vestibulo-ocular reflex pathway โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการฝึกโยคะร่วมกับการฝึกกระตุ้นระบบรับรู้การทรงตัวในหูชั้นใน (YOGA+VSE) และ การฝึกโยคะเพียงอย่างเดียว (YOGA) ต่อความสามารถในการทรงตัวในผู้สูงอายุเพศหญิง ผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม YOGA+VSE (n=19) และ กลุ่ม YOGA (n=15) ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการฝึกออกกำลังกาย 3 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับการทดสอบ Berg Balance Score, Time Up and Go, การควบคุมจุดศูนย์กลางแรงดันร่างกาย (center of pressure) ขณะยืน และการควบคุมจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงร่างกาย (center of gravity) ขณะเดิน ก่อนเข้าร่วมการฝึก หลังเข้าร่วมการฝึก 4 สัปดาห์ และ 8 สัปดาห์ ผลจากการศึกษา ภายหลังการฝึกออกกำลังกาย 8 สัปดาห์ พบว่าการควบคุมจุดศูนย์กลางแรงดันร่างกายขณะยืนกลุ่มที่ฝึกโยคะร่วมกับการฝึกกระตุ้นระบบรับรู้การทรงตัวในหูชั้นใน (YOGA+VSE) มีค่าความเร็วที่ใช้ในการเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางแรงดันร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ฝึกโยคะเพียงอย่างเดียว (YOGA) และภายหลังการฝึกออกกำลังกาย 8 สัปดาห์ พบว่าการควบคุมจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงร่างกายขณะเดิน 1 gait cycle และขณะเดินในช่วง single limb stance phase ของทั้งสองกลุ่มมีค่าระยะทางการเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผลจากการฝึกออกกำลังกายทั้งสองรูปแบบช่วยเพิ่มความสามารถในการทรงตัวขณะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายได้จากค่าคะแนน Berg Balance Score ที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาการทดสอบ Time Up and Go ที่ลดลง สรุปผลการวิจัย กลุ่มที่ฝึกโยคะร่วมกับการฝึกกระตุ้นระบบรับรู้การทรงตัวในหูชั้นในมีค่าความเร็วที่ใช้ในการเคลื่อนที่ของจุดศูนย์กลางแรงดันร่างกายขณะยืนลืมตาบนพื้นเรียบดีกว่ากลุ่มที่ฝึกโยคะเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การฝึกออกกำลังกายทั้งสองรูปแบบให้ผลไม่แตกต่างกันในการฝึกเพื่อเพิ่มความมั่นคงของร่างกายจากการควบคุมการทรงตัวขณะยืนและขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ช่วยส่งเสริมความสามารถในการทรงตัวขณะทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาและป้องกันความเสี่ยงจากการหกล้มในผู้สูงอายุเพศหญิงได้