Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความยืดหยุ่นทางอารมณ์และปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาการวิจัยเชิงพรรณา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-sectional descriptive study) ศึกษาเฉพาะญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เป็นผู้ป่วยของศูนย์ชีวาภิบาล ที่ส่งปรึกษาศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 150 คน โดยเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2562-มกราคม พ.ศ. 2563 คัดเลือกการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ศึกษาเฉพาะญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเพศชายและหญิงทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ที่ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 1 เดือนขึ้นไป เก็บข้อมูลโดยการให้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้ 1) ข้อมูลส่วนบุคคล 2) ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแล 3) แบบวัดภาระในการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วย 4) แบบประเมินความยืดหยุ่นทางอารมณ์ 5) แบบวัดการเห็นคุณค่าของตนเอง 6)แบบสอบถามภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า 7) แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม และ 8) แบบประเมินความสัมพันธ์และหน้าที่ของครอบครัว ผลการศึกษา ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย จำนวน 150 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 47 ปี ส่วนใหญ่มีสถานภาพคู่และมีการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ได้ประกอบอาชีพ ผู้ป่วยที่ดูแลส่วนใหญ่เป็นบิดา/มารดา กว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54) มีระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยน้อยกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ความยืดหยุ่นทางอารมณ์ของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย พบว่า ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมีค่าคะแนนความยืดหยุ่นทางอารมณ์โดยเฉลี่ยเท่ากับ 69.73 (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 13.76) ส่วนใหญ่ญาติผู้ดูแลรู้สึกว่าไม่เป็นภาระ ในการดูแล(ร้อยละ 54.7) มีการเห็นคุณค่าของตนเองอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 75.3) พบภาวะวิตกกังวลร้อยละ 30.7 และพบภาวะซึมเศร้าร้อยละ 12.7 ส่วนใหญ่มีการสนับสนุนทางสังคมโดยรวมและแยกเป็นรายด้าน ทุกๆด้าน (ด้านอารมณ์ ด้านข้อมูลข่าวสาร และด้านทรัพยากรและวัตถุ) อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.0 ร้อยละ 64.7 และร้อยละ 66.7) และมีหน้าที่และความสัมพันธ์ในครอบครัวระดับดี (ร้อยละ 66.0) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ปานกลางถึงสูงของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ได้แก่ การไม่ใช้ยานอนหลับ การไม่มีภาวะวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคมโดยรวมและทุกๆด้านในระดับปานกลางถึงสูง (p<0.05) ปัจจัยทำนายความยืดหยุ่นทางอารมณ์ระดับปานกลางถึงสูง ได้แก่ การไม่ใช้ยานอนหลับ (p<0.05) และการสนับสนุนทางสังคมโดยรวมระดับปานกลางถึงสูง (p<0.01)
สรุป ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ต่ำกว่าในประชากรทั่วไป โดยพบในญาติผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยานอนหลับและการสนับสนุนทางสังคมต่ำ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้ลดความเครียดกังวล เกิดการผ่อนคลายและสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น รวมถึงการหาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางอารมณ์ของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย