Abstract:
การพัฒนาการออกกำลังกายเพื่อลดภาวะกระดูกสันหลังค่อมแบบหลายมิติ (MHCE) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงของความยาวกล้ามเนื้อข้อสะโพกที่ต่อเนื่องมาจากการเกิดภาวะกระดูกสันหลังค่อม ส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลประสาทรับรู้ความรู้สึกในข้อสะโพกเพื่อควบคุมการทรงตัวบกพร่อง จึงทำให้ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังค่อมสูญเสียการทรงตัวได้ง่าย วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อศึกษาความแตกต่างของผล MHCE และการออกกำลังกายเพื่อลดภาวะกระดูกสันหลังค่อมรูปแบบที่แนะนำในปัจจุบัน (CHCE) เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ต่อการเปลี่ยนแปลงของมุมส่วนโค้งของกระดูกสันหลังระดับอก (TKA) ความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังระดับอก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแอ่นหลัง ความยาวของกล้ามเนื้องอสะโพก (Hip flexor) และกล้ามเนื้อเหยียดข้อสะโพกร่วมกับงอเข่า (Hamstrings) การรับรู้ตำแหน่งของข้อสะโพก (JPS) และการทรงตัวขณะเดินในผู้หญิงที่มีภาวะกระดูกสันหลังค่อมจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกสุ่มแบ่งเป็นกลุ่ม MHCE และกลุ่ม CHCE กลุ่มละ 18 คน ได้รับการตรวจประเมินก่อนและหลังออกกำลังกาย ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง 2 กลุ่ม มีค่า TKA ความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังระดับอก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแอ่นหลัง ความยาวของกล้ามเนื้อ Hamstrings และความสามารถการทรงตัวขณะเดินแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติก่อนและหลังออกกำลังกาย ส่วนค่า JPS มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะกลุ่ม MHCE (P<.05) และกลุ่ม MHCE มีค่า TKA ลดลงมากกว่ากลุ่ม CHCE อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.05) สรุปว่า MHCE สามารถลดมุมส่วนโค้งของกระดูกสันหลังระดับอกและพัฒนาการรับรู้ตำแหน่งของข้อสะโพกได้ดีกว่า CHCE ส่วนการเพิ่มความยืดหยุ่นของกระดูกสันหลังระดับอก เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแอ่นหลัง เพิ่มความยาวกล้ามเนื้อ Hamstrings และการพัฒนาความสามารถการทรงตัวขณะเดิน การออกกำลังกายทั้ง 2 แบบทำได้ไม่แตกต่างกัน