Abstract:
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเครียดมาจากหลายสาเหตุระหว่างที่เรียน ซึ่งหนึ่งในความเครียดหลักคือการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย โดยนักเรียนจะเตรียมตัวและพยายามอย่างมากเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมปลายที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวอาจช่วยให้พวกเขาได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย คณะ และอาชีพในฝันดังที่ตั้งใจไว้ ทำให้ผู้วิจัยสนใจศึกษาระดับความเครียดและความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยทำการวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 312 คน ซึ่งเรียนกวดวิชาภายในตึกมาบุญครองและตึกสยามสเคปเพื่อสอบเข้าสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ครอบครัว การเรียน การสอบแข่งขัน เพื่อนและสิ่งแวดล้อม และแบบวัดความเครียดสวนปรุงซึ่งเป็นแบบวัดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการวัดความเครียดของคนไทย ซึ่งในการศึกษานี้ผู้วิจัยเลือกใช้ฉบับปรับปรุงโดยชัยชนะ นิ่มนวล และภควัฒน์ วงษ์ไทย จำนวน 22 ข้อ ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างถูกวิเคราะห์ด้วยสถิติ Chi-square test, Logistic regression, และ Independent t-test
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเครียดในระดับรุนแรงร้อยละ 62.82 รองลงมาคือระดับความเครียดสูง ระดับเล็กน้อยและระดับปานกลางเท่ากับร้อยละ 14.74, 12.50, และ 9.94 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เพศ อายุ หนี้สินในครอบครัว ความสัมพันธ์กับครอบครัว การเรียนที่ส่งผลต่อความเครียด เหตุผลที่เลือกโรงเรียนเนื่องมาจากครอบครัวแนะนำให้สอบเข้า รวมถึงมาลองข้อสอบหรือมาสอบตามเพื่อน และระดับความพึงพอใจในการเตรียมตัวของตนเอง สำหรับปัจจัยที่สามารถทำนายความเครียดสูงของนักเรียน ได้แก่ นักเรียนเพศหญิง ครอบครัวมีหนี้สิน การเรียนส่งผลต่อความเครียด ความพึงพอใจในการเตรียมตัวระดับปานกลาง และเหตุผลในการเลือกโรงเรียนคือการมาลองสอบหรือการมาสอบตามเพื่อน โดยสรุปแล้วนักเรียนกลุ่มนี้มีความเครียดระดับสูงถึงรุนแรงเนื่องจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้าสู่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูงมีความหมายต่ออนาคตของพวกเขา ดังนั้น ผู้เรียนเอง ครอบครัว เพื่อน ครู และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมดูสุขภาพจิตและคอยดูแลตรวจสอบเกี่ยวกับความเครียดของนักเรียนด้วย