Abstract:
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดเรื้อรัง หรือโรค Chronic lymphocytic leukemia (CLL) เกิดจากการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติ และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมีผลทำให้เกิดโรค ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติของพันธุกรรมของโรค CLL ในประเทศไทยยังคงมีน้อยกว่าในประเทศตะวันตก CLL เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยด้วย ซึ่งอาการและความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มอายุยังคงไม่มีข้อมูล การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วยโรค CLL ในประเทศไทยและศึกษาความแตกต่างของลักษณะความผิดปกติทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มอายุของผู้ป่วย โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยโรค CLL จำนวน 80 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงพฤศจิกายน 2564 โดยรวบรวมผล Fluorescent in situ hybridization (FISH) และ immunophenotyping จากการวินิจฉัยครั้งแรก ตรวจวิเคราะห์สถานะการกลายพันธุ์ของ IGHV และตรวจวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีน ด้วยเทคนิค Next generation sequencing (NGS) ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยชาวไทยมีอายุเฉลี่ย 66 ปี อัตราส่วนผู้ป่วยเพศชายต่อเพศหญิง 2.08:1 และพบว่า 17.3% ของผู้ป่วยมี 17p deletion และ 6.3% ของผู้ป่วยมี 11q deletion ยีนที่กลายพันธุ์บ่อยที่สุดคือ ARID1A (76.3%), KMT2D (70.0%), MYD88 (16.3%), TP53 (11.3%), SF3B1 (10.0%) และ ATM (8.8%) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการ (asymptomatic) มีอัตราการพบการกลายพันธุ์ของยีน MYD88 มากกว่าในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการ (symptomatic) โดยสัดส่วนคือ 36.0% กับ 9.3% (p=0.011) ตามลำดับ และไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอายุจากการวิเคราะห์สถานะการกลายพันธุ์ของ IGHV โดยกลุ่มอายุน้อยกว่า 65 ปี มี 42.5% และกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี มี 57.5%
ผู้ป่วยโรค CLL ชาวไทยมักเกิดในกลุ่มอายุน้อยกว่าผู้ที่เป็นชาวตะวันตก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ค่าพารามิเตอร์ทางโลหิตวิทยาและสถานะการกลายพันธุ์ของ IGHV ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มอายุ แต่สถานะการกลายพันธุ์ของ IGHV และการกลายพันธุ์ของยีน MYD88 มีความสัมพันธ์กันในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ จากการศึกษาความผิดปกติทางพันธุกรรมช่วยให้เข้าใจลักษณะทางชีววิทยาของโรคได้ดีขึ้น และเป็นแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรค CLL