Abstract:
ภาวะซึมเศร้าถือเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในวัยนี้ต้องเผชิญกับความเสื่อมจากกระบวนการของความชราภาพและวิกฤตต่าง ๆ ในชีวิต หากสามารถปรับตัวได้เพียงจำกัดหรือเลือกใช้รูปแบบการป้องกันทางจิตที่ไม่เหมาะสม นั่นอาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ โดยการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกของภาวะซึมเศร้า รูปแบบการป้องกันทางจิต และปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 กรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้สูงอายุ 129 คน ในศูนย์บริการสาธารณสุข 7 กรุงเทพมหานคร โดยขอให้อาสาสมัครตอบชุดแบบสอบถามที่ประกอบด้วย แบบประเมินรูปแบบการป้องกันทางจิต (DSQ–60) แบบวัดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไทย (TGDS–30) แบบสอบถามการมีส่วนร่วมในสังคมของผู้สูงอายุ แบบสอบถามเหตุการณ์ความเครียดในชีวิตในช่วง 1 ปี และแบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน (Chula ADL Index) โดยผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างพบผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 9.3 สำหรับรูปแบบการป้องกันทางจิตที่ถูกใช้บ่อยที่สุด คือ adaptive defense mechanisms โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบ altruism และ sublimation กลไกการป้องกันทางจิตแบบปรับตัวได้นี้มีความสัมพันธ์เชิงลบกับภาวะซึมเศร้า อีกทั้งการเป็นเพศชาย มีโรคทางจิตเวช มีการพึ่งพิงในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ระดับปานกลาง มีความเครียดในชีวิตด้านเศรษฐกิจในระดับปานกลางถึงสูงและด้านสังคมในระดับสูง มักเลือกใช้การป้องกันทางจิตรูปแบบ passive–aggression หรือ reaction formation และการไม่ค่อยได้ใช้การป้องกันทางจิตรูปแบบ sublimation สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
โดยสรุปหนึ่งในสิบของผู้สูงอายุในการศึกษานี้มีภาวะซึมเศร้าเมื่อเทียบกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างเลือกใช้การป้องกันทางจิตแบบ adaptive defense styles ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้นควรมีการนำปัจจัยตัวความเครียดทางจิตใจสังคมในช่วงที่ผ่านมาและประวัติการเจ็บป่วยทางจิตเวชมาใช้คัดกรอง อีกทั้งส่งเสริมการใช้การป้องกันทางจิตแบบปรับตัวได้จะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภาวะซึมเศร้าเพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุ