Abstract:
โรคนิ่วไตพบมากในคนไทยโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีปัจจัยเสี่ยงคือ ภาวะซิเตรทในปัสสาวะต่ำ แคลเซียมและออกซาเลตในปัสสาวะสูง โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จากการศึกษาก่อนหน้าพบความแตกต่างของประชากรจุลินทรีย์ในลำไส้ของผู้ป่วยโรคนิ่วไตจากคนสุขภาพดี จึงเชื่อว่าความแตกต่างของจุลินทรีย์ลำไส้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วไต เพื่อศึกษาความผิดปกตินี้ ผู้วิจัยจึงศึกษาความแตกต่างของจุลินทรีย์ในลำไส้เปรียบเทียบระหว่างอาสาสมัครคนปกติและผู้ป่วยโรคนิ่วไต พบว่าจุลินทรีย์ phylum Bacteroidata ในอุจจาระของผู้ป่วยโรคนิ่วไตสูงกว่าคนสุขภาพดี และพบ genus Bifidobacterium ต่ำกว่าคนสุขภาพดี จากนั้นนำจุลินทรีย์จากอุจจาระของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม ปลูกถ่ายลงในหนู Wistar เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับจุลินทรีย์จากกลุ่มผู้ป่วยโรคนิ่วไตมีปริมาณออกซาเลตในปัสสาวะมีแนวโน้มสูงขึ้น ปริมาณแมกนีเซียมในปัสสาวะลดลง รวมทั้ง pH ในปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น และพบดัชนีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว (Tiselius’s supersaturation index) เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบ จุลินทรีย์ genus Muribaculaceae สูงขึ้นในหนูที่ได้รับการปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์จากผู้ป่วยโรคนิ่วไต และ genus Roseburia มีจำนวนลดลง รวมถึงการแสดงออกของ tight junction (Zonula occluden-1 หรือ ZO-1) ที่ลดลง และพบการแสดงออกของ oxalate transporter มีแนวโน้มสูงขึ้น สรุปได้ว่าหนูที่ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระจากผู้ป่วยโรคนิ่วไตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วสูงขึ้น โดยมีกลไกจากการแสดงออกของโปรตีน ZO-1 ลดลง และเพิ่ม oxalate transporter ที่ลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับออกซาเลตจากอาหารในลำไส้เพิ่มขึ้น และขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น เป็นหลักฐานยืนยันว่าความผิดปกติของสมดุลเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วไต