Abstract:
ที่มา: ภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงตอนกลางคืนร่วมด้วย ซึ่งทั้งสองภาวะนี้เป็นข้อจำกัดของการรักษาซึ่งกันและกัน ท่านอนเป็นหนึ่งในการรักษาโดยไม่ใช้ยาที่สามารถแนะนำในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าโดยไม่ทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงในท่านอนแย่ลง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของท่านอนต่อภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าในช่วงเช้าของผู้ป่วยพาร์กินสัน
วิธีการวิจัย: การวิจัยแบบตัดขวาง ศึกษาผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่า 20 ราย โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตชนิด 24 ชั่วโมงที่บ้าน โดยผู้ป่วยทุกรายจะต้องนอนในท่านอนที่กำหนด ได้แก่ ท่านอนหงาย ท่านอนตะแคงซ้าย ท่านอนตะแคงขวา และท่านอนศีรษะสูง 20 เซนติเมตร ตามลำดับ และผู้ป่วยทุกรายจะต้องวัดความดันโลหิตท่านอนราบ เทียบกับท่ายืน 3 นาที ในตอนเช้าหลังตื่นนอนทันที
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 12 ราย อายุเฉลี่ย 69.90±6.16 ปี ระยะเวลาที่เป็นโรคเฉลี่ย 12.40±8.90 ปี ระยะโรคเฉลี่ย 2.93±0.77 ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตช่วงกลางวันอยู่ที่ 115.50±12.64/ 69.45±6.61 มิลลิเมตรปรอท ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตช่วงกลางคืนขณะนอนหงายอยู่ที่ 23.95±18.37/ 73.55±11.30 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าในช่วงเช้าหลังจากนอนแต่ละท่าเทียบกับท่านอนหงายพบว่า หลังจากนอนในท่านอนตะแคงไม่ว่าจะเป็นตะแคงซ้ายหรือตะแคงขวา และนอนศีรษะสูง มีความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าในช่วงเช้าน้อยกว่าท่านอนหงายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าในช่วงเช้าหลังจากนอนท่านอนตะแคง ไม่ว่าจะเป็นตะแคงซ้ายหรือตะแคงขวา และนอนศีรษะสูง
สรุปผลการวิจัย: งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นว่าท่านอนตะแคงทั้งซ้ายและขวา มีผลลดความรุนแรงของภาวะความดันโลหิตตกขณะเปลี่ยนท่าในช่วงเช้าได้ ไม่แตกต่างจากการนอนในท่าศีรษะสูงจากพื้น 20 เซนติเมตร ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาโดยไม่ใช้ยาในปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตอาจเป็นแนวทางการรักษาโดยไม่ใช้ยาใหม่อีกแนวทางหนึ่ง เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา สามารถทำได้ง่ายกว่าแนวทางเดิม ไม่ทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงตอนกลางคืนแย่ลง