Abstract:
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : การฟอกเลือดด้วยตัวกรองรูใหญ่พิเศษ (super high flux, SHF) ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีประสิทธิศักดิ์ในการกำจัดสารยูรีมิกขนาดกลางตั้งแต่ขนาดค่อนข้างเล็กจนขนาดใหญ่ เช่น β2-microglobulin (β2M, 11.8 กิโลดาลตัน) α1-microglobulin (α1M, 31 กิโลดาลตัน) และ λ-free light chain (λFLC, 45 กิโลดาลตัน) ได้ดีใกล้เคียงกับวิธีฮีโมไดอะฟิวเตรชั่น อย่างไรก็ตามตัวกรองรูใหญ่พิเศษถูกออกแบบมาสำหรับใช้ครั้งเดียวทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อการฟอกเลือดค่อนข้างสูง จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่ศึกษาประสิทธิศักดิ์และความปลอดภัยของการนำตัวกรองรูใหญ่พิเศษกลับมาใช้ซ้ำว่าตัวกรองมีคุณสมบัติในการกำจัดสารยูรีมิกเปลี่ยนไปหรือไม่
ระเบียบวิธีวิจัย : การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบไปข้างหน้าในสถาบันเดียวในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 5 รายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำการฟอกเลือดด้วยวิธีมาตรฐานโดยใช้ตัวกรองรูใหญ่พิเศษ ELISIO-21HX ที่นำกลับมาใช้ซ้ำด้วยกรดเปอร์อะซิติกรวม 15 ครั้งต่อตัวกรอง เปรียบเทียบความสามารถในการกำจัด β2M และอัตราการลดลงของ β2M, α1M, λFLC และ indoxyl sulfate เปรียบเทียบระหว่างการใช้ตัวกรองครั้งแรกและครั้งที่ 2, 5, 10 และ 15 รวมถึงวัดการสูญเสียอัลบูมินในน้ำยาไตเทียม และระดับอัลบูมินในเลือด
ผลการศึกษา : การศึกษานี้มีการใช้ตัวกรองรูใหญ่พิเศษจำนวน 15 ตัวกรอง อัตราการกำจัดสาร β2M เทียบระหว่างการใช้ตัวกรองครั้งแรกกับการใช้ครั้งที่ 15 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (127.2 ± 18.3 มล./นาที เทียบกับ 114.4 ± 17.2 มล./นาที, p 0.926, ตามลำดับ) อัตราการลดลงของ β2M และ α1M ระหว่างการใช้ตัวกรองครั้งแรกกับการใช้ครั้งที่ 15 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 85.5 ± 5.9 เทียบกับ 82.5 ± 3.5, p 1.000 และร้อยละ 27.1 ± 15.5 เทียบกับ 21.7 ± 12.7, p 1.000 ตามลำดับ) ขณะที่อัตราการลดลงของสาร λFLC ของการใช้ตัวกรองครั้งแรกอยู่ที่ร้อยละ 50.4 ± 4.9 ลดลงเหลือร้อยละ 46.0 ± 5.3, 40.0 ± 5.8 และ 32.3 ± 4.9 ที่การใช้ตัวกรองครั้งที่ 2, 5 และ 15 ตามลำดับ โดยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตั้งแต่การใช้ตัวกรองครั้งที่ 2 เป็นต้นไป (p < 0.001) การสูญเสียอัลบูมินในน้ำยาไตเทียมที่การใช้ตัวกรองครั้งแรกอยู่ที่ 1.01 ± 0.73 กรัม และลดลงเหลือ 0.19 ± 0.30, 0.06 ± 0.17 กรัมที่การใช้ตัวกรองครั้งที่ 2 และ 5 ตามลำดับ (p < 0.001) ทั้งนี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับอัลบูมินในเลือดและค่าความพอเพียงของการฟอกเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป : การฟอกเลือดด้วยตัวกรองรูใหญ่พิเศษโดยนำกลับมาใช้ซ้ำด้วยกรดเปอร์อะซิติกมีความสามารถในการกำจัด β2M และ α1M ได้ดีเทียบเท่าการใช้ตัวกรองครั้งเดียว แต่สามารถกำจัด λFLC ได้ลดลงหลังนำกลับมาใช้ซ้ำ และพบว่าการสูญเสียอัลบูมินในน้ำยาไตเทียมลดลงอย่างมากหลังการนำกลับมาใช้ซ้ำ การนำตัวกรองรูใหญ่พิเศษกลับมาใช้ซ้ำสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในการฟอกเลือดที่มีประสิทธิศักดิ์ใกล้เคียงกับการฟอกเลือดมาตรฐานด้วยตัวกรองรูใหญ่พิเศษครั้งเดียวหรือวิธีฮีโมไดอะฟิวเตรชั่นโดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า