Abstract:
ความเป็นมา
ปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติแบบถูกออกแบบมาให้มีความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น โดยล่าสุดมีการออกแบบเป็นเครื่องวัดความดันแบบไร้สาย ซึ่งมีเพียงสายรัดวัดความดัน (Blood pressure cuff) และมีการใส่อุปกรณ์ตั้งเวลาเพื่อให้สามารถบันทึกความดันโลหิตได้โดยอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลานี้ ยังไม่เคยถูกตรวจสอบความแม่นยำของการวัดความดันโลหิตในประชากรไทย
วัตถุประสงค์
เพื่อตรวจสอบความแม่นยำของเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ Uright model TD3140, TaiDoc Technology Corporation รุ่นที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลาวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ ตามมาตรฐานของ ANSI/AAMI/ISO ปี 2018
วิธีการวิจัย
เป็นการศึกษาพรรณนาแบบตัดขวาง เก็บข้อมูลและวัดความดันโลหิตของอาสาสมัคร ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 โดยเก็บข้อมูลทั่วไป, โรคประจำตัว รวมถึงยาที่ให้เป็นประจำ และวัดความโลหิตของอาสาสมัครจากเครื่อง Uright model TD3140, TaiDoc Technology Corporation รุ่นที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลาวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ เปรียบเทียบกับการวัดความดันแบบมาตรฐานตามเกณฑ์ของ ANSI/AAMI/ISO ปี 2018
ผลการวิจัย
ในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ของอาสาสมัครทั้งหมด 85 คน (อายุเฉลี่ย 38.39 ± 13.91 ปี, 69% เพศหญิง) ความดันโลหิตตัวบนเฉลี่ย (Mean systolic blood pressure) 117.46 ± 18.63 [84-176] มิลลิเมตรปรอท ความดันโลหิตตัวล่างเฉลี่ย (Mean diastolic blood pressure) 74.84 ± 10.70 [42-108] มิลลิเมตรปรอท ค่าเฉลี่ยของความแตกต่างของความดันโลหิตที่ได้จากเครื่องวัดความดันที่ทดสอบกับวิธีมาตรฐาน 0.66 ± 6.81 มิลลิเมตรปรอท ของความดันโลหิตตัวบน และ -0.96 ± 6.33 มิลลิเมตรปรอท ของความดันโลหิตตัวล่าง ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เมื่อคิดจากความแตกต่างของอาสาสมัครแต่ละบุคคล 0.66 ± 4.45 มิลลิเมตรปรอท ของความดันโลหิตตัวบน และ -0.96± 3.46 มิลลิเมตรปรอท ของความดันโลหิตตัวล่าง ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 2 ข้อของ ANSI/AAMI/ISO
สรุปผลงานวิจัย
เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ Uright model TD3140, TaiDoc Technology Corporation รุ่นที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลาวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานการวัดความดันโลหิตของ ANSI/AAMI/ISO ปี 2018