Abstract:
ที่มา: การตรวจไขกระดูกถือเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยา การวิเคราะห์แปลผลไขกระดูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาหรือพยาธิแพทย์ถือเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์สเมียร์ไขกระดูกถือเป็นภาระงานที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก ต้องอาศัยผู้มีความชำนาญมาก
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องวิเคราะห์สเมียร์ไขกระดูกอัตโนมัติในการช่วยวินิจฉัยแยกโรคในกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์และกลุ่มอาการไขกระดูกเสื่อมชนิดเอ็มดีเอสโดยดูจากปริมาณของบลาสต์ในไขกระดูกเป็นหลัก และเปรียบเทียบการจำแนกสัดส่วนเซลล์แต่ละประเภทในสเมียร์ไขกระดูกของทั้งสองวิธี
ระเบียบวิธีวิจัย: การวิจัยนี้ศึกษาในตัวอย่างสเมียร์ไขกระดูกที่ทำในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในช่วงปี พ.ศ.2561-พ.ศ.2563 โดยสนใจศึกษาในสเมียร์ไขกระดูก 140 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 4 กลุ่มเท่าๆกัน โดยตัวอย่างสเมียร์ไขกระดูกทั้งหมดในการวิจัยนี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ 2 ครั้ง คือโดยเครื่อง Vision Hema® 8Pro และโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยา เพื่อนำผลการวิเคราะห์ของทั้งสองวิธีมาเปรียบเทียบตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ผลการศึกษา: จากการศึกษาในสเมียร์ไขกระดูกทั้งหมด 131 ตัวอย่าง ประกอบไปด้วย ไขกระดูกปกติ 31 ตัวอย่าง, ไขกระดูกเสื่อมชนิดเอ็มดีเอสชนิดบลาสต์น้อย 33 ตัวอย่าง, ไขกระดูกเสื่อมชนิดเอ็มดีเอสชนิดบลาสต์มาก 33 ตัวอย่าง และไขกระดูกโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ 34 ตัวอย่าง พบว่าการวิเคราะห์สเมียร์ไขกระดูกเพื่อวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคด้วยทั้งสองวิธีมีความสอดคล้องกันในระดับปานกลางโดยมีค่าสัมประสิทธิ์แคปปาของโคเฮน เท่ากับ 0.50 และ ค่า p < 0.001 สำหรับการจำแนกสัดส่วนเซลล์แต่ละประเภทในสเมียร์ไขกระดูกด้วยทั้งสองวีธี พบว่ามีความสอดคล้องค่อนข้างดีสำหรับ เซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดงและเซลล์บลาสต์ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน เท่ากับ 0.72 (ค่า p < 0.001) และ 0.71 (ค่า p < 0.001) ตามลำดับ
สรุปผล: จากการศึกษานำร่องนี้ แสดงให้เห็นว่าเครื่อง Vision Hema® 8Pro ยังไม่สามารถทดแทนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการจำแนกโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์และกลุ่มอาการไขกระดูกเสื่อมชนิดเอ็มดีเอสโดยดูจากปริมาณบลาสต์ การพัฒนาระบบการวิเคราะห์ของเครื่องและการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มโรคอื่นๆยังเป็นสิ่งจำเป็น