Abstract:
ที่มาของการวิจัย ในปลายปี 2019 เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) โดยอาการและภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และยังสามารถก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจต่างๆ รวมถึงการมีหัวใจเต้นผิดปกติ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติบางรูปแบบนั้นมีความสัมพันธ์กับพยากรณ์โรคที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม การศึกษาในไทยยังขาดข้อมูลที่ชัดเจน การวิจัยนี้จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ช่วยให้ทราบถึงความชุกของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และความสัมพันธ์ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติกับอัตราตายในระหว่างนอนโรงพยาบาล
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และรูปแบบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่มีความสัมพันธ์กับอัตราตายในระหว่างนอนโรงพยาบาล
กระบวนการและระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยโดยการสังเกตเชิงวิเคราะห์ชนิดย้อนหลัง รวบรวมเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT-PCR ร่วมกับมีอาการหรืออาการแสดงของโรค และเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 โดยเก็บข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการเสียชีวิตในระหว่างนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือมีเครื่องกระตุ้นหัวใจจะถูกคัดออกจากการวิจัย ผลลัพธ์หลักคือความชุกของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติรูปแบบต่างๆ และผลลัพธ์รองคือรูปแบบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่มีความสัมพันธ์กับอัตราตายในระหว่างนอนโรงพยาบาล
ผลการศึกษา จากผู้ป่วยทั้งหมด 180 ราย อายุเฉลี่ย 61.01 ± 16.17 ปี เพศชายร้อยละ 56 พบว่า ความชุกของผู้ป่วยที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมีจำนวน 154 ราย (ร้อยละ 85.6) คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบได้บ่อย ได้แก่ การมีระยะ QT ยาวผิดปกติ (ร้อยละ 36.8), การมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (ร้อยละ 29.1), การเบี่ยงเบนลงของ ST segment (ร้อยละ 23.4), และการมี pathologic Q wave (ร้อยละ 19.5) ตามลำดับ มีผู้ป่วยเสียชีวิตในระหว่างนอนโรงพยาบาลจำนวน 33 ราย (ร้อยละ 18.3) โดยพบว่าลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่มีความสัมพันธ์กับอัตราตายในระหว่างนอนโรงพยาบาล ได้แก่ การมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (OR 7.86 95% CI 2.75-22.44 p-value <0.001), การเกิดภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วก่อนกำหนด (OR 5.06; 95% CI 1.29-19.78; p-value 0.02), การมีระยะ QTc ยาวผิดปกติ (OR 4.71; 95% CI 1.6-13.9; p-value 0.005), และการเบี่ยงเบนลงของ ST segment (OR 2.96; 95% CI 1.04-8.4; p-value 0.042) โดยในกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตจะมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
สรุป จากการวิจัยนี้พบว่า ความชุกของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ที่ร้อยละ 85.6 และคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติบางรูปแบบมีความสัมพันธ์กับอัตราตายในระหว่างนอนโรงพยาบาล