Abstract:
ความเป็นมา: ไวรัส SARS-CoV-2 อาจส่งผลกระทบต่อต่อมใต้สมองและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้เกิดกลุ่มอาการหรือความผิดปกติที่ยังคงพบต่อเนื่องหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยบางรายหรือที่เรียกว่า "Long COVID-19 syndrome" อย่างไรก็ตามข้อมูลผลกระทบของไวรัสต่อต่อมใต้สมองยังมีอยู่อย่างจำกัด
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินความอัตราการเกิดความผิดปกติของต่อมใต้สมองในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19
วิธีการวิจัย: ศึกษาความผิดปกติของการผลิตฮอร์โมนของต่อมใต้สมองในผู้ป่วยในช่วง 1เดือนหลังจากการหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอาสามัครอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยอาศัยการตรวจระดับฮอร์โมนต่อมใต้สมองส่วนหน้าและ Fixed-dose glucagon stimulation test (FD-GST) เพื่อบ่งบอกภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมใต้สมอง และประเมินความสัมพันธ์ระหว่างภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมใต้สมอง กับความรุนแรงของโรคโควิด-19 และภาวะ Long COVID-19 syndrome
ผลการศึกษา: จากผู้เข้าร่วมวิจัย 25 คน 18 คน (72%) มีความรุนแรงปานกลางระหว่างการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และ 7 คน (28%) เป็นกลุ่มผู้ป่วยรุนแรงน้อย พบความชุกของภาวะ Long COVID-19 ใน 80% ของผู้เข้าร่วมวิจัย ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมใต้สมองพบใน 12% ของผู้เข้าร่วมวิจัย จากการที่มีระดับของ GH ผิดปกติหลังทำ FD-GST และ 8% แสดงความผิดปกติของระดับ cortisol จาก FD-GST อย่างไรก็ตามไม่พบความผิดปกติของฮอร์โมนต่อมใต้สมองส่วนหน้าอื่นๆ นอกจากนี้พบว่ากลุ่มที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนต่อมใต้สมองพบว่ามีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการเหนื่อยล้าซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยของ Long COVID-19 syndrome โดยอาศัย Piper Fatigue Scale (p=0.003)
สรุป: หนึ่งเดือนหลังจากการวินิจฉัยโรคโควิด-19 พบหลักฐานของความผิดปกติของต่อมใต้สมองร้อยละ 12 ซึ่งสัมพันธ์กับระดับอาการเหนื่อยล้า การศึกษาแสดงหลักฐานของผลกระทบของไวรัสที่มีต่อต่อมใต้สมองและแสดงถึงความจำเป็นในการติดตามอาการและระดับฮอร์โมนในผู้ป่วยหลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19