Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษา ลักษณะของผื่นที่กำเริบ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการกำเริบของผื่น และความแตกต่างในการกำเริบของสะเก็ดเงินกับวัคซีนแต่ละชนิด
วิธีการศึกษา : ทำการสำรวจผู้ป่วยที่มีรายชื่อเข้ารับการตรวจในคลินิกผิวหนังและสะเก็ดเงินของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในปี พ.ศ. 2561-2564 ทั้งหมด 176 คน โดยใช้แบบสอบถามทางโทรศัพท์ เพื่อประเมินการกำเริบของผื่นในด้าน จำนวนของผื่น ความแดง ความคัน และชนิดของผื่นที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของ self-report จากผู้ป่วย รวมถึงเก็บข้อมูลในด้าน อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย โรคประจำตัว ยาที่ใช้ในปัจจุบัน ชนิดวัคซีนที่ฉีด และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การตั้งครรภ์ และความเครียด
ผลการศึกษา: พบการกำเริบของสะเก็ดเงินภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 28% จากผู้ป่วยทั้งหมด เมื่อแบ่งตามชนิดของวัคซีน พบการกำเริบของสะเก็ดเงินที่ 15% , 18% และ 15% สำหรับวัคซีนชนิด inactivated, viral vector และ mRNA ตามลำดับ โดยระยะเวลาการกำเริบของผื่นภายหลังการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1วัน- 14 วัน และผื่นดีขึ้นที่ 3 วัน- 4 เดือน โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการรักษา นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยจำนวน 1 คน ที่มีลักษณะผื่นเปลี่ยนจาก plaque type เป็น pustular type จากการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ของ อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย ชนิดของสะเก็ดเงิน โรคประจำตัว และยาที่ใช้ในปัจจุบัน กับการกำเริบของผื่นสะเก็ดเงิน รวมถึงไม่พบความแตกต่างระหว่างการกำเริบของสะเก็ดเงินกับชนิดของวัคซีน
สรุปผล: การกำเริบของสะเก็ดเงินภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ โดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างชนิดของวัคซีนกับการกำเริบของผื่น โดยการกำเริบของสะเก็ดเงินภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมักไม่รุนแรงและสามารถดีขึ้นได้เอง