Abstract:
ที่มา: การเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิ (Primary PCI) ยังเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันชนิดเอสทียก (STEMI) นอกจากนี้การประเมินการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจหลังทำหัตถการยังเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่แย่ (TIMI ≤ 2) สัมพันธ์กับอัตราตาย อัตราการเกิดหัวใจวาย และการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ซึ่งหนึ่งในวิธีประเมินการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่สามารถทำได้ง่ายกว่าคือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด 12 ลีดโดยใช้ลักษณะของทีเวฟหัวกลับพบว่าสามารถใช้ทำนายความสำเร็จของการเปิดของหลอดเลือดหัวใจได้ ในทางกลับกันยังไม่มีการศึกษาว่าการตรวจไม่พบทีเวฟหัวกลับหลังการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิจะสัมพันธ์กับการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่แย่
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการตรวจไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดทีเวฟหัวกลับที่เกิดขึ้นใหม่กับการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่แย่ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันชนิดเอสทียกซึ่งได้รับการรักษาด้วยการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิ
ระเบียบวิจัย: การศึกษาย้อนหลังแบบมีกลุ่มควบคุม (Retrospective case control study) ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันชนิดเอสทียกซึ่งได้รับการรักษาด้วยการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2550 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดยเก็บข้อมูลลักษณะอาการทางคลินิก ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนและหลังทำหัตถการภายใน 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤต อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลและที่ 30 วัน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจดี (TIMI flow = 3) และแย่ (TIMI flow ≤ 2)
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยจำนวน 165 รายเป็นเพศชายร้อยละ 78.2 อายุเฉลี่ย 57 ± 12 ปี พบกล้ามเนื้อหัวใจตายบริเวณผนังกล้ามเนื้อหัวใจส่วนล่าง (Inferior wall STEMI) มากที่สุดคิดเป็น 58.2% และระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเจ็บหน้าอกจนถึงได้รับการเปิดหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ย 288.3 ± 203.2 นาที พบว่าผู้ป่วย 55 รายเป็นกลุ่มที่มี TIMI flow ≤ 2 และผู้ป่วย 110 รายมี TIMI flow = 3 ในจำนวนผู้ป่วยที่มี TIMI flow ≤ 2 มีผู้ป่วย 27 ราย (ร้อยละ 49.1) ตรวจไม่พบลักษณะทีเวฟหัวกลับจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังทำหัตถการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มี TIMI flow =3 คือ 58 ราย (ร้อยละ 52.7, p=0.66) นอกจากนี้ยังพบว่าระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤตของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ 3 (IQR 2, 8) วัน และ 2 (IQR 1, 3) วัน, p=0.001 และยังมีแนวโน้มว่ากลุ่ม TIMI flow ≤ 2 นั้นมีอัตราการเสียชีวิตระหว่างนอนโรงพยาบาลและที่ 30 วันมากกว่าอีกด้วย (ร้อยละ 9.1 เปรียบเทียบกับร้อยละ 5.5, p=0.377 และ ร้อยละ12.8 เปรียบเทียบกับร้อยละ 5.2, p=0.15 ตามลำดับ)
สรุป: การตรวจไม่พบลักษณะทีเวฟหัวกลับที่เกิดขึ้นใหม่จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังทำหัตถการภายใน 24 ชั่วโมง ไม่สัมพันธ์กับการไหลของเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่แย่ (TIMI flow ≤ 2) ในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลันชนิดเอสทียก (STEMI) ซึ่งได้รับการรักษาด้วยการเปิดขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดปฐมภูมิ (Primary PCI)