Abstract:
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกในช่วงปีพ.ศ. 2563 ส่งผลให้ประเทศไทยได้ออกมาตรการ Bubble and Seal เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานสำหรับสถานประกอบทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการใช้มาตรการนี้มีน้อย จึงยังไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงานที่เข้าร่วมมาตรการ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสถานะสุขภาพจิตระหว่างพนักงานโรงงานประเภทผลิตเครื่องดื่มที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมมาตรการ Bubble and Seal ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2565 จากกลุ่มตัวอย่างพนักงานโรงงานประเภทผลิตเครื่องดื่มที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมมาตรการ Bubble and Seal ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 116 และ 311 คน ตามลำดับ แบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านงาน และแบบประเมินสุขภาวะทางจิต Depress Anxiety Stress Scales (DASS-21) ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน รวมถึงการวิเคราะห์การถดถอยโลจีสติก ผลการศึกษาพบว่าความชุกของภาวะซึมเศร้าในพนักงานที่เข้าร่วมมาตรการต่อพนักงานที่ไม่เข้าร่วมมาตรการ ร้อยละ 6.9 ต่อ ร้อยละ 5.1, ความวิตกกังวลร้อยละ 8.6 ต่อ ร้อยละ 15.1 และความเครียดร้อยละ 8.6 ต่อ ร้อยละ 5.1 ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์โดยควบคุมปัจจัยกวนพบว่าความวิตกกังวลในกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมมาตรการสูงมีแต้มต่อ 5.31 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เข้าร่วม (OR = 5.31, 95% CI 1.45 – 13.39) แต่ไม่พบความแตกต่างกันของภาวะซึมเศร้าและความเครียด ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าการเข้าร่วมมาตรการ Bubble and Seal อาจส่งผลประโยชน์ในการช่วยบรรเทาการเกิดความวิตกกังวล และไม่เพิ่มความชุกของภาวะซึมเศร้าหรือความเครียดของพนักงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ Bubble and Seal