Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างในพนักงานดับเพลิง กรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานและเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 234 คน เก็บข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล ข้อมูลปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน แบบสอบถามอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างนอร์ดิกฉบับแปลภาษาไทย และการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง แรงบีบมือถนัด แรงเหยียดขา และความอ่อนตัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ผลการศึกษาพบว่าความชุกของอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างที่ตำแหน่งใด ๆ อย่างน้อยหนึ่งตำแหน่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา คือ ร้อยละ 60.26 โดยตำแหน่งที่พบอาการผิดปกติมากที่สุด คือ ไหล่ (ร้อยละ 35.04) หลังส่วนล่าง (ร้อยละ 30.77) และเข่า (ร้อยละ 20.94) ตามลำดับ การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกโดยควบคุมตัวแปรกวนพบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง ณ ตำแหน่งใด ๆ อย่างน้อยหนึ่งตำแหน่ง ได้แก่ ประวัติการทำงานในอดีตหรือมีอาชีพเสริมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง (OR 3.0, 95% CI = 1.5 – 6.2) การมีประวัติสูบบุหรี่แต่เลิกสูบแล้ว (OR 2.2, 95% CI = 1.1 – 4.6) การมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์แต่เลิกแล้ว (OR 2.8, 95% CI 1.2 – 6.5) ในส่วนของปัจจัยสมรรถภาพทางกาย พบว่าผู้ที่มีความอ่อนตัวต่ำมีแต้มต่อของการเกิดอาการผิดปกติสูง (OR 2.0, 95% CI 1.1 – 3.7) ในขณะที่ผู้ที่มีแรงบีบมือต่ำมีแต้มต่อของการเกิดอาการผิดปกติต่ำ (OR 0.5, 95% CI 0.3 – 1.0) จากผลการศึกษานี้ ผู้วิจัยแนะนำให้มีการรณรงค์ให้พนักงานดับเพลิงเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด และเน้นย้ำให้ออกกำลังกายโดยเฉพาะการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ