Abstract:
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการปรับโครงสร้างองค์กรกระทบต่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ภาวะหมดไฟเป็นกลุ่มอาการทางสุขภาพจิตที่ใช้ในบริบทของงานเท่านั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะหมดไฟในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเก็บข้อมูลจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำนวน 358 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน 2565 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด 3) แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 4) แบบประเมินภาวะหมดไฟ (MBI-GS ฉบับภาษาไทย พัฒนาโดย ชัยยุทธ กลีบบัว ) การวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติแบบพรรณาและสถิติเชิงอนุมาน ผลการวิจัยพบว่า ความชุกของภาวะหมดไฟระดับปานกลางถึงสูง ในด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ การเมินเฉยต่องาน และความสามารถในงาน มีค่าร้อยละ 46.6, 63.7 และ 56.4 ตามลำดับ ปัจจัยทำนายภาวะหมดไฟด้านความอ่อนล้าทางอารมณ์ ได้แก่ การมีอายุน้อย (p = 0.015) การเพิ่มขึ้นของหนี้สิน (p = 0.01) ความไม่พึงพอใจในตารางบิน (p = 0.012) การมีคุณสมบัติในการปฏิบัติการบินบนเครื่องบินน้อยแบบ (p = 0.007) ความรู้สึกมั่นคงในงานลดลง (p < 0.001) การมีปัญหานอนไม่หลับ (p = 0.041) การมีคะแนนความเครียดสูง (p < 0.001) และการมีสุขภาพจิตที่แย่ลง (p = 0.011) ปัจจัยทำนายด้านการเมินเฉยต่องาน ได้แก่ ตำแหน่งงานที่ไม่ได้เป็นหัวหน้างาน (p < 0.001) ความไม่พึงพอใจในตารางบิน (p = 0.001) ความรู้สึกมั่นคงในงานลดลง (p < 0.001) การมีคะแนนความเครียดสูง (p < 0.001) และการมีสุขภาพจิตที่แย่ลง (p = 0.015) ในขณะที่ปัจจัยทำนายด้านความสามารถในงานมีเพียง ตำแหน่งงานที่ไม่ได้เป็นหัวหน้างาน (p < 0.001) จึงสรุปได้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดไฟในพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สามารถออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ และ ปัญหาหนี้สิน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่ ตารางปฏิบัติการบิน ความรู้สึกมั่นคงในงาน รวมทั้งแบบของเครื่องบินที่มีคุณสมบัติ และ ปัจจัยด้านสุขภาพจิต ได้แก่ ความเครียด ภาวะทางสุขภาพจิต และคุณภาพการนอนหลับ