Abstract:
ที่มาของงานวิจัย : การรับประทานยากดภูมิในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตทำให้มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัส 2 เข็มที่ไม่ดีและไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การศึกษานี้จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยปลูกถ่ายไตต่อวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด บีเอ็นที16บี2หลังได้รับวัคซีนโรคโควิดชนิดแชดด็อกซ์ มาแล้ว 2 เข็ม
ระเบียบและวิธีวิจัย : เป็นการศึกษาเชิงสังเกตชนิดวิเคราะห์ (prospective cohort study) ในผู้ป่วยที่ได้การปลูกถ่ายไตมาแล้วมากกว่า 6 เดือน ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี ไม่มีภาวะสลัดไตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาและไม่เคยติดเชื้อโคโรนาไวรัสมาก่อน นำมาฉีดวัคซีนบีเอ็นที16บี2 หลังได้รับวัคซีนแชดด็อกซ์เข็มที่ 2 มาแล้ว 4 สัปดาห์ และตรวจเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามเชื้อโคโรนาไวรัส (anti-SARS-CoV-2 spike antibody) แอนติบอดีเอชแอลเอที่จำเพาะต่อผู้บริจาคไตก่อนและหลังฉีดวัคซีนดังกล่าวไปแล้ว 4 สัปดาห์
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยทั้งหมด 115 คนที่เข้ารับการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามเชื้อโคโรนาไวรัสเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติหลังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดบีเอ็นที16บี2จากค่ามัธยฐาน 8.85 บีเอยู/มล. (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 00.00-180.81) ขึ้นเป็น ค่ามัธยฐาน 676.64 บีเอยู/มล. (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 6.02-3,644.03) ( P <0.001) เมื่อศึกษาในกลุ่มย่อยพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิกลุ่มที่ไม่มียาไมโครฟีโนเลท (mycophenolate ; MPA) มีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยากดภูมิสูตรมาตรฐานที่มียาไมโครฟีโนเลท ( 113.91 vs 3,060.69 บีเอยู/มล. , P <0.001) และหลังจากการฉีดวัคซีนไม่พบแอนติบอดีเอชแอลเอที่จำเพาะต่อผู้บริจาคไตขึ้นมาใหม่ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงผิดปกติตลอดระยะเวลา 6 เดือน
สรุปผลการศึกษา : การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดบีเอ็นที16บี2ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไตสามารถกระตุ้นภูมิแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับการได้รับวัคซีนชนิดแชดด็อกซ์เพียง 2 เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาไมโครฟีโนเลทในสูตรยากดภูมิพบภูมิขึ้นดีเป็นพิเศษ โดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ