Abstract:
คนประจำเรือและชาวประมงมีลักษณะการปฏิบัติงานการดำเนินชีวิตประจำวันที่เเตกต่างจากการทำงานบนบก มีการปฏิบัติงานในพื้นที่ไกลฝั่งเป็นเวลานานเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทางการเเพทย์ การศึกษาเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บของคนประจำเรือและชาวประมงผ่านศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือภาวะฉุกเฉินทางทะเลในประเทศไทย เก็บข้อมูลโดยการศึกษาจากบันทึกการขอรับปรึกษาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บบนเรือ ได้แก่ กองทัพเรือภาคที่1,2 และ3 และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล(ศรชล.)ภาคที่1,2 และ3 ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นำมาวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องด้วยสถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษา: มีการปรึกษาผ่านศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือภาวะฉุกเฉินทางทะเลทั้งหมด 316 ครั้ง มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 578 ราย ส่วนมากเป็นชาวประมง 538 คน (92.9%) แบ่งเป็นผู้บาดเจ็บทั้งหมด 529 ราย(91.5%) และเจ็บป่วย 49 ราย(8.5%) สาเหตุการบาดเจ็บที่พบบ่อยสุดคือการตกน้ำหรือจมน้ำเนื่องจากคลื่นลมแรง การเจ็บป่วยที่พบบ่อยที่สุดคืออาการในกลุ่มระบบประสาท (34.7%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือโดยการเคลื่อนย้ายกลับฝั่งและหลังการช่วยเหลือผู้ป่วยส่วนใหญ่รอดชีวิต(69.6%)
สรุปผลการศึกษา: ศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือภาวะฉุกเฉินทางทะเลมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยทางทะเล ผู้ป่วยส่วนมากเป็นชาวประมง การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ ควรมีมาตรการด้านการป้องกันเพิ่มเติม