Abstract:
การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาค่าความไวและความจําเพาะของการทดสอบการได้ยินด้วยเสียงกระซิบ (Whispered voice test: WVT) เปรียบเทียบกับการทดสอบด้วยเสียงบริสุทธิ์ (Pure tone audiometry: PTA) ในการคัดกรองการได้ยินในผู้ขับรถสาธารณะ อีกทั้งศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการได้ยิน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามตอบด้วยตนเอง และข้อมูลผลการทดสอบการได้ยินด้วย WVT และ PTA ดำเนินการในผู้ประกอบอาชีพขับรถโดยสารสาธารณะของบริษัทสัมปทานเดินรถแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 170 คน วินิจฉัยภาวะสูญเสียการได้ยินตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2534 (WHO (1991)) และ พ.ศ. 2563 (WHO (2020)) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน รวมถึงการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก ผลการศึกษา เมื่อวินิจฉัยตามเกณฑ์ WHO (1991) และ WHO (2020) พบว่า ค่าความไว (95% CI) ของ WVT ในการคัดกรองการสูญเสียการได้ยินระดับเล็กน้อยเป็นต้นไป ร้อยละ 77.66 (73.23 – 82.09) และ ร้อยละ 85.86 (82.15 – 89.56) ในขณะที่ค่าความไวของ WVT ในคัดกรองการสูญเสียการได้ยินระดับปานกลางเป็นต้นไป ร้อยละ 70.10 (65.23 – 74.96) และ ร้อยละ 73.85 (69.18 – 78.52) สำหรับค่าความจำเพาะ (95% CI) ของ WVT ในการคัดกรองการสูญเสียการได้ยินระดับเล็กน้อยเป็นต้นไป ร้อยละ 51.97 (46.66 – 57.28) และ ร้อยละ 44.40 (39.12 – 49.68) ในขณะที่ค่าความจำเพาะของ WVT ในการคัดกรองการสูญเสียการได้ยินระดับปานกลางเป็นต้นไปร้อยละ 96.55 (94.61 – 98.49) และ ร้อยละ 82.46 (78.41 – 86.50) ความชุก (95% CI) ของการสูญเสียการได้ยิน ร้อยละ 34.71 (27.58 – 42.37) และ ร้อยละ 65.29 (57.63 – 72.42) ตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้ยิน ได้แก่ อายุและเพศ สรุปผลการทดสอบการได้ยินด้วย WVT มีความไวและความจำเพาะที่เหมาะสมสำหรับใช้คัดกรองการสูญเสียการได้ยินระดับปานกลางเป็นต้นไปในผู้ประกอบอาชีพขับรถโดยสารสาธารณะ