Abstract:
ความสำคัญและที่มาของปัญหางานวิจัย: อุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแตกต่างกันตามปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่มีภาวะตับแข็งและตรวจไม่พบระดับไวรัสในเลือดนั้นมีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งตับ HCC ต่ำที่สุด
วัตถุประสงค์ของงานวิจัย: การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคุ้มค่าทางต้นทุน-ประสิทธิผลของการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ HCC ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ระยะเวลาแตกต่างกัน ได้แก่การตรวจคัดกรองปีละสองครั้ง, ปีละหนึ่งครั้ง และไม่ตรวจคัดกรองเลย
ระเบียบวิธีวิจัย: ออกแบบแบบจำลองการวิเคราะห์การตัดสินใจ แบ่งการศึกษาเปรียบเทียบเป็น 3 วิธี คือการตรวจคัดกรองปีละสองครั้ง, การตรวจคัดกรองปีละครั้ง และไม่ตรวจคัดกรองเลย โดยจำลองระยะของมะเร็งตับที่ตรวจพบและการรักษามะเร็งตับในแต่ละวิธีการ ศึกษาต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ ผลลัพธ์ทางสุขภาพคือปีชีวิตที่เพิ่มขึ้น, ปีสุขภาวะ, และอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อปีสุขภาวะ
ผลการศึกษา: ต้นทุนรวมตรงทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับได้แก่ 0 บาทในกลุ่มที่ไม่ได้ตรวจคัดกรอง, 20,709,000 บาทในกลุ่มที่ได้รับการตรวจคัดกรองปีละครั้ง และ 41,418,000 บาทในกลุ่มที่ได้รับการตรวจคัดกรองปีละสองครั้ง เมื่อใช้กลุ่มที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองเป็นตัวเปรียบเทียบ ค่าอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อปีสุขภาวะของกลุ่มที่ได้รับการตรวจคัดกรองปีละครั้งเท่ากับ 3,912,304 บาทต่อหนึ่งปีสุขภาวะ และค่าอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อปีสุขภาวะของกลุ่มที่ได้รับการตรวจคัดกรองปีละสองครั้งเท่ากับ 6,826,371 บาทต่อหนึ่งปีสุขภาวะ การตรวจคัดกรองทั้งสองวิธีการไม่มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเพดานที่เต็มใจจะจ่ายของไทยเท่ากับ 160,000 บาท
สรุปผลการวิจัย: การตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ไม่มีภาวะตับแข็งและตรวจไม่พบไวรัสในเลือดหลังการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งประกอบด้วยการทำอัลตราซาวด์และการตรวจระดับซีรั่มอัลฟ่าฟีโตโปรตีน ไม่มีความคุ่มค่าจากการวิเคราะห์ทางต้นทุน-ประสิทธิผล